ตอนที่ 1 ฮะดีษและซุนนะห์
วัน จันทร์ 22 ธ.ค. 03 @ 19:08
หัวข้อ: อุลูมุ้ลฮะดีษ



โดย อ.ฟารีด เฟ็นดี้


บรรดานักวิชาการได้ให้คำนิยามคำว่า ฮะดีษ และ ซุนนะห์ ไว้สองประเภทด้วยกันคือ ความหมายทางด้านภาษา และความหมายทางด้านนิติบัญญัติ

ความหมายของฮะดีษ

ฮะดีษมีความหมายทางด้านภาษาว่า ใหม่ ซึ่งตามความหมายนี้ นักวิชาการบางท่านวิจารณ์ว่า อัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ เป็นนิติบัญญัติอันดับแรกแห่งอิสลาม เราจึงถือว่าอัลกุรอานเป็นบัญญัติเก่าแก่ดังเดิมจากพระองค์ ส่วนฮะดีษเป็นของใหม่ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากอัลกุรอาน โดยถือเป็นบัญญัติอันดับสองรองจากอัลกุรอาน

ส่วนความหมายของฮะดีษทางนิติบัญญัตินั้น นักวิชาการ

ส่วนใหญ่ให้ความหมายว่า “เรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับท่านนบี ไม่ว่าจะเป็นในด้านคำพูด,การกระทำ,การยอมรับ,จริยธรรม,คุณลักษณะ,นิสัย ของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” และรวมถึงคำพูดและการกระทำของบรรดาศอฮาบะห์และตาบีอีนด้วย

แต่นักวิชาการบางท่านไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า ฮะดีษคือเรื่องที่เกี่ยวพันกับท่านนบีเท่านั้น ไม่นับรวมถึงคำพูดและการกระทำของศอฮาบะห์และตาบีอีน หากแต่ทัศนะซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการฮะดีษคือ รวมถึงคำพูดและการกระทำของศอฮาบะห์และตาบีอีนด้วย โดยจัดแยกประเภทไว้คือ สิ่งที่มาจากนบีจะถูกเรียกว่า ฮะดีษมัรฟัวอ์ สิ่งที่อ้างถึงศอฮาบะห์จะถูกเรียกว่า ฮะดีษเมากูฟ และสิ่งที่อ้างถึงตาบีอีนจะถูกเรียกว่า ฮะดีษมักตัวอ์

ความหมายของซุนนะห์

คำว่าซุนนะห์มีความหมายในทางภาษาว่า แนวทาง ในที่นี้รวมถึงแนวทางทั้งในด้านดีและในเลว แต่เราจะรู้ถึงวัตถุประสงค์ของผู้พูดว่าจะหมายถึงแนวทางในด้านดีหรือในด้านเลวก็ด้วยกับความขยายความ ดังเช่นคำพูดของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอนหนึ่งที่ว่า

مَنْ سَن فِى الاسْلامِ سُنةً حَسَنَةً فَلهُ أجْرُهَا وَأجْرُمَنْ عَمِلَ بِهَا بَعْدَهُ


“ผู้ใดชี้แนวทางที่ดีไว้เขาได้รับภาคผลในเรื่องนั้น และได้รับภาคผลของผู้ที่นำไปปฏิบัติต่อจากเขาด้วย” ศอเฮียะห์มุสลิม กิตาบุลซะกาต ฮะดีษที่ 1691

จากคำกล่าวของท่านนบีข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ท่านกล่าวถึงแนวทางที่ดี ด้วยการนำคำว่า حسنة มาขยายความคำว่า سنة อีกทอดหนึ่ง หากแต่ว่าแนวทางของอัลลอฮ์ และแนวทางของท่านรอซูลจะมิถูกขยายความด้วยคำว่า ชั่ว หรือ เลว เพราะเป็นแนวทางที่บริสุทธิ์ ฉะนั้นเมื่อมีการกล่าวว่า سنة الله ( แนวทางของอัลลอฮ์) หรือ سنة الرسول (แนวทางของท่านรอซูล) จึงหมายถึงแนวทางที่ผู้ศรัทธาจะต้องยึดถือปฏิบัติ เป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ศรัทธาได้รับชัยชนะทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์

ส่วนความหมายของคำว่าซุนนะห์ในทางนิติบัญญัติคือ “เรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับท่านนบี ไม่ว่าจะเป็นในด้านคำพูด,การกระทำ,การยอมรับ,จริยธรรม,คุณลักษณะ,นิสัย ของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” การให้คำจำกัดความตามนัยนี้มีความหมายตรงกับคำว่า “ฮะดีษ” ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่า ซุนนะห์และฮะดีษมีความหมายเหมือนกันและยังรวมถึงคำพูดและการกระทำของศอฮาบะห์และตาบีอีนไว้ด้วย หากแต่นักวิชาการด้าน อุศูล ให้ความหมายคำว่า ซุนนะห์ เฉพาะสิ่งที่อ้างถึงรอซูลเท่านั้น ไม่นับรวมเอาคำพูดและการกระทำของศอฮาบะห์และตาบีอีนไว้ด้วย

นอกจากนั้น ฮะดีษ และซุนนะห์ ยังถูกเรียกในชื่ออื่นๆ อีก เช่นบางคนเรียกว่า ค่อบัร แปลว่า ข่าว หมายถึงข่าวจากท่านรอซูล หรือบางคนเรียกว่า อะซัร แปลว่า ร่องรอย หมายถึงมีร่องรอยมาจากท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

ที่มาของฮะดีษ

ฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านรอซูลได้มาโดยสามแนวทางด้วยกันคือ

1 – มีเรื่องราวหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นกับท่านรอซูล แล้วท่านก็แจ้งข้อบัญญัติในเรื่องนั้นให้บรรดาศอฮาบะห์ทราบ เช่น ท่านรอซูลพบว่าชายผู้หนึ่งอาบน้ำละหมาดโดยที่ส้นเท้าของเขาไม่มีร่อยรอยจากการอาบน้ำละหมาด ท่านจึงสั่งให้เขากลับไปอาบน้ำละหมาดเสียใหม่

2 – มีเรื่องเกิดขึ้นแก่บรรดาศอฮาบะห์ แล้วได้นำเรื่องนั้นไปถามท่านรอซูล ท่านจึงแจ้งข้อบัญญัติในเรื่องดังกล่าวให้ทราบ เช่น ท่านอาลี อิบนิ อะบีตอเล็บ เป็นผู้ที่มีน้ำ มะซีย์ (น้ำเมือก) ออกจากอวัยวะเพศมากกว่าปกติ แต่ท่านก็อายที่จะไปถามท่านรอซูลด้วยตัวเอง เพราะท่านอยู่ในฐานะลูกเขย ท่านจึงได้ใช้ให้ มิกดาด ไปถามท่านรอซูลแทน แล้วท่านรอซุลก็ได้แจ้งข้อบัญญัติในเรื่องนี้ให้ทราบว่า “ให้ล้างอวัยวะเพศให้สะอาดแล้วอาบน้ำละหมาดโดยที่ไม่ต้องยกฮะดัษใหญ่”

3 – บรรดาศอฮาบะห์ได้เห็นจากการกระทำของท่านนบี แล้วก็รายงานให้ทราบต่อๆกัน เช่นท่านอุมัร รายงานว่า “ฉันเห็นท่านรอซูลเดินนำหน้าศพ” อย่างนี้เป็นต้น






บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=7