ที่สุดของชีวิต
วัน พฤหัสบดี 12 ก.พ. 04 @ 09:56
หัวข้อ: ศูนย์หนังสือนัฟฟาซี่



โดย อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้

“แม้จะเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเพียงใด แต่ชีวิตจะยังคงอยู่ เพราะโลกนี้ไม่ใช่จุดจบของชีวิต เป็นเพียงการปิดฉากชีวิตในโลกดุนยานี้เท่านั้น”

ส่วนหนึ่งจากคำบรรยายของ อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้



หลายคนเมื่อประสพกับปัญหาชีวิต ต่างก็หาทางออกด้วยวิธีที่ต่างกัน

- บางคนซึมเศร้า
- บางคนหันไปดูหนังฟังเพลง
- บางคนสนุกสนานเฮฮากับเพื่อนฝูง
- บางคนหางานทำเพื่อให้ไม่มีเวลาว่าง
- บางคนใช้วิธีระบายทุกข์กับเพื่อนฝูงและคนที่สนิท
- บางคนชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวเงียบๆ
- บางคนทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง
- และบางคนก็รับสภาพไม่ไหวหาทางออกด้วยการปิดฉากชีวิต

แต่.........จะมีสักกี่คนที่หันเข้าหาที่พึ่งพิงจากพระเจ้า

ดุนยาน้อยจุดเริ่มต้นของชีวิต

เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงบังเกิดมนุษย์ในครรภ์ของมารดา จากการปฏิสนธิของเชื้ออสุจิเพศชาย และจากไข่สุกของเพศหญิง โดยให้เกิดการฟักตัวอยู่ในมดลูก และพระองค์ได้ทรงทำให้มนุษย์มีเรือนร่าง ทรงเป่าวิญญาณเข้าไปในร่างนั้น พร้อมทั้งกำหนดอายุขัยให้แก่เขา
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“ต่อมาพระองค์ได้ทรงทำให้การสืบเผ่าพันธ์ของมนุษย์ มาจากน้ำอสุจิที่ไร้ค่า แล้วพระองค์ทรงทำให้เขามีเรือนร่าง และได้เป่าวิญญาณเข้าไปในร่างนั้น” ซูเราะห์อัสซะญะดะห์ อายะห์ที่ 8 – 9

“แท้จริงเราได้สร้างบรรพบุรุษของพวกเจ้ามาจากดิน ต่อมาจากเชื้ออสุจิ แล้วให้เป็นก้อนเลือด และก้อนเนื้อทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เพื่อที่เราจะได้แจกแจงแก่พวกเจ้า และเราได้ให้ฟักตัวอยู่ในมดลูกตามที่เราประสงค์ จนถึงระยะเวลาหนึ่ง และให้พวกเจ้าคลอดออกมาในสภาพที่เป็นทารก แล้วให้พวกเจ้าเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ และเราได้ให้พวกเจ้าบางคนเสียชีวิตในวัยฉกรรจ์ และเราให้บางคนในหมู่พวกเจ้าได้ย้อนกลับสู่วัยที่ต่ำต้อย เพื่อเขาจะไม่ได้รู้สิ่งใดหลังจากที่มีความรู้” (วัยชราที่หลงลืม) ซูเราะห์อัลฮัจญ์ อายะห์ที่ 5

พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงให้ชีวิตของมนุษย์บังเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา โดยให้มีทั้งร่างและวิญญาณคู่กัน แม้จะยังไม่ได้คลอดออกจากครรภ์ของมารดาก็ตาม แต่ชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ.ที่ตรงนี้... มันคือก้าวแรกของชีวิต ซึ่งถูกเรียกว่า “ดุนยาน้อย” หรือ ซุครอ

ชีวิตในดุนยาน้อย เป็นชีวิตที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงมอบให้โดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิเลือกเฟ้น หรือต่อรอง เช่นจะขอเลือกร่างหรือคัดเลือกวิญญาณเอาเองตามความพอใจ หรือจะขอปฏิสนธิอยู่ในมดลูกของคนนั้นหรือคนนี้ จะขอมีพ่อมีแม่เป็นคนนั้นหรือคนนี้ หรือจะขอเลือกแผ่นดินเกิดตามใจชอบ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์ทั้งสิ้น แต่เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงมอบให้เช่นนี้แล้ว เราจึงพอใจและภูมิใจ และขอขอบคุณในความเมตตาของพระองค์ที่ทรงให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์

ฉะนั้นการที่ผู้ใดตำหนิเรือนร่างของตัวเองหรือของผู้อื่น หรือไม่พอใจในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงมอบให้ จึงถือว่าเป็นการตำหนิการสร้าง และเป็นการตำหนิผู้ทรงสร้างอย่างไม่น่าให้อภัย

ในช่วงระยะเวลาที่มนุษย์ได้อยู่ในดุนยาน้อยหรืออยู่ในครรภ์ของมารดานั้น มนุษย์เริ่มรับรู้ และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้เป็นแม่ได้อย่างดี สังเกตได้จาก...หากผู้ตั้งครรภ์กินอาหารแสลงก็จะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย หรือหากผู้ที่ตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวน ก็จะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ให้แก่ทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน

จนเมื่อเขาได้คลอดออกจากครรภ์ของมารดานั่นแหละ มันจึงได้ปิดฉากชีวิตในดุนยาน้อยลง โดยที่เขาไม่สามารถจะย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีก ชีวิตจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกก้าวหนึ่ง ณ.ที่ตรงนี้...ซึ่งถูกเรียกว่า “ดุนยาใหญ่” หรือ กุบรอ

ชีวิตในดุนยาใหญ่

เราได้รับทราบจากคัมภีร์อัลกุรอานแล้วว่า เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ต้องการให้ชีวิตแก่ผู้ใด พระองค์ก็จะก็ทรงเป่าวิญญาณเข้าไปในเรือนร่างนั้น และวิญญาณที่ได้ให้อยู่คู่กับร่างนี้ก็มิได้เคยเป็นวิญญาณของผู้อื่น หรือเคยเป็นวิญญาณของสัตว์และสิ่งอื่นมาก่อน และก็มิใช่วิญญาณแต่ชาติปางก่อนที่เวียนว่ายตายเกิด ที่วนเข้าร่างโน้นออกไปร่างนี้ อย่างที่บางคนเข้าใจอีกด้วย หากแต่เป็นวิญญาณอันบริสุทธิที่มาจากพระองค์อัลลอฮ์

แม้มนุษย์จะเชื่อว่าในเรือนร่างของมนุษย์ขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น มีวิญญาณร่วมอยู่ด้วยก็ตาม แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะคิด วิเคราะห์เรื่องของวิญญาณได้ด้วยสมองของตัวเอง แม้จะมีความเพียรพยายามคิดค้นกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่มนุษย์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เสียทีว่าวิญญาณคืออะไร มาจากไหน มาอย่างไร และจะไปไหน ไปอย่างไร เพราะมนุษย์ไม่ใช่เป็นผู้กำหนดให้วิญญาณมาและไปได้ด้วยตัวเอง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับวิญญาณ จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัดว่า วิญญาณเป็นเรื่องขององค์อภิบาลของข้า และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆนอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ซูเราะห์อัลอิสรออ์ อายะห์ที่ 85

มนุษย์มีโอกาสรับรู้ในเรื่องของวิญญาณเพียงเล็กน้อยจริงๆ จากการบอกของพระผู้เป็นเจ้า และจากคำสอนของศาสนทูตของพระองค์เท่านั้น แต่ความรู้ที่ได้รับนอกเหนือจากนี้เป็นได้แค่เพียงการสันนิฐาน หรือการคาดเดาเอาเท่านั้นเอง

อีกทั้งเรือนร่างที่มนุษย์ได้ครอบครองอยู่นี้ ก็ล้วนแต่เป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์ทั้งสิ้น พระองค์เป็นผู้ทรงประทานให้โดยที่มนุษย์มิได้เลือกร่างเอาเองตามความพอใจ แต่ก็อาจจะมีบางคนเข้าใจผิดคิดว่า ร่างของข้า ตัวของข้า ข้าจะทำอย่างไรก็ได้ แต่เขาลืมนึกไปว่า เขาไม่ได้สร้างร่างกายของเขาขึ้นมาเอง

แต่ขณะที่ร่างและวิญญาณยังอยู่ด้วยกันนี้ มนุษย์มีหน้าที่ในการดูแลรักษา โดยไม่มีสิทธิที่จะละเมิดหรือทำลายโดยไม่ชอบธรรม ด้วยเหตุนี้การทำร้ายตัวเอง หรือการทรมานตนเอง หรือการฆ่าตัวตายจึงเป็นสิ่งต้องห้าม และถือเป็นการกระทำที่เป็นบาปใหญ่
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และพวกเขาจะไม่ฆ่าชีวิตใดที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยความเป็นธรรมเท่านั้น” ซูเราะห์อัลฟุรกอน อายะห์ 68

ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“การกระทำที่เป็นบาปใหญ่นั้นคือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์, การฆ่าชีวิต, การเนรคุณพ่อแม่, คำให้การเท็จ หรือท่านนะบีกล่าวว่า การเป็นพยานเท็จ” รายงานโดยท่านอิบนิอับบาส บันทึกโดย บุคคอรี ฮะดีษที่ 6363

แม้ชีวิตในดุนยานี้จะทุกข์ทนแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม มนุษย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำลายชีวิตของตัวเองอย่างเด็ดขาด หรือทำลายชีวิตของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากที่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาสนาเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายเป็นหน้าที่ของมนุษย์โดยตรง เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเจ็บป่วยก็ต้องรักษา แต่จะเป็นหรือจะตาย จะหายหรือไม่ มอบให้เป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์

คนแก่คนเฒ่าบางคนมักจะไม่ค่อยใส่ใจในสุขภาพ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่อยากรักษา แต่มักจะบอกกับลูกหลานว่า เมื่ออัลลอฮ์ให้เป็นก็เป็น เมื่อให้ตายก็ตาย เมื่อให้หายก็จะหายเอง

ความเข้าใจเช่นนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะเราพูดแต่เรื่องของอัลลอฮ์ โดยที่ไม่พูดถึงหน้าที่ของเราเลย หน้าที่ของเราคือการรักษา แล้วมอบหมายต่อพระองค์อัลลอฮ์ต่างหาก

แต่ถ้าต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย หรือประสพกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ ศาสนาก็สอนให้ขอการพึ่งพิงจากพระเจ้า
ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนว่า

“คนใดก็ตามในหมู่พวกเจ้าอย่าได้โอดครวญถึงความตายเป็นอันขาด ในขณะที่ความทุกข์ยากได้ประสพแก่เขา แต่หากเขาอยู่ในภาวะที่วิกฤติก็ให้วิงวอนขอดังนี้ โอ้พระองค์อัลลอฮ์ ได้โปรดให้ฉันมีชีวิตอยู่ต่อไปเถิด หากการมีชีวิตอยู่เป็นการดีสำหรับฉัน และขอให้ฉันได้ตายเถิดหากการตายเป็นการดีสำหรับฉัน” รายงานโดยท่านอะนัส บินมาลิก บันทึกโดยบุคคอรี ฮะดีษที่ 5239

ฉะนั้นในขณะที่เจ็บป่วย หรือทนทุกข์ทรมานก็อย่าได้โวยวายตีโพยตีพายว่า “อยากตาย” หรือ “เมื่อไหร่จะตายซะที” เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย ถ้าหากว่าชีวิตนี้มันหนักหนาสาหัสนัก ก็วิงวอนขอต่อผู้เป็นเจ้าของชีวิตตามที่ท่านนะบีได้สอนไว้
ความจริง...ชีวิตที่เราได้เป็นอยู่นี้ย่อมจะมีทั้งสุขและทุกข์เป็นธรรมดา เป็นวัฎจักรของชีวิต

มนุษย์นี่แปลกนะ.... พอมีทุกข์ร้อนก็มักจะโวยวาย แต่ในยามที่เป็นสุขไม่เห็นมีใครโวยวายตีโพยตีพายสักคน

และก็แปลกอีกนั่นแหละ...ที่บางคนพอมีทุกข์ร้อนก็จะหันหน้าวิงวอนต่อพระเจ้า แต่ในยามที่เป็นสุข เขากลับทำตัวเหมือนคนไม่มีพระเจ้า
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และเมื่อเหตุร้ายประสพกับมนุษย์ เขาก็จะวิงวอนขอต่อเราทั้งในขณะที่นอนตะแคงหรือนั่งหรือยืน แต่เมื่อเราได้ปลดเปลื้องเหตุร้ายให้พ้นจากเขาแล้ว เขาก็ทำเหมือนกับไม่เคยวิงวอนขอต่อเราให้พ้นจากเหตุร้ายที่ได้ประสพกับเขา” ซูเราะห์ยูนุส อายะห์ที่ 12

ที่จริงแล้ว...ชีวิตในโลกดุนยานี้คือวันเวลาที่เราจะอยู่กันเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง แล้วเราก็จะต้องจากไป แต่ขณะที่บางคนใช้ชีวิตเหมือนกับจะไม่จากดุนยา และไม่เคยตระเตรียมเสบียงไว้เพื่อเดินทางสู่โลกใหม่ แต่ยังคงหลงใหลและหมกมุ่น ทุ่มเทเพื่อชีวิตในโลกดุนยาเพียงอย่างเดียว
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และชีวิตในโลกดุนยาหาใช่อื่นใดนอกจากเป็นเพียงการละเล่นและความเพลิดเพลินเท่านั้น” ซูเราะห์อัลอันอาม อายะห์ที่ 32

ชีวิตในดุนยานี้มีบททดสอบ มันเป็นเพียงก้าวหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเดินผ่าน หลายครั้งที่เราเจอบททดสอบ แล้วก็สอบไม่ผ่าน แต่บางคนก็สอบผ่านไปด้วยความยากเย็นแสนเข็ญ และถ้าหากเราได้พิจารณาเหตุการณ์แต่ละครั้งที่ผ่านมาในชีวิต มันจะเป็นบทเรียนแก่เราได้ดี และทำให้หัวใจมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“มนุษย์คิดกระนั้นหรือว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวแต่เพียงว่า เราศรัทธาแล้วโดยที่พวกเขาไม่ถูกทดสอบ” ซูเราะห์อัลอังกะบูต อายะห์ที่ 2

ไม่มีผู้ใดหรอกที่ใช้ชีวิตอยู่ในดุนยาโดยไม่ผ่านบททดสอบเลย หากแต่ทุกคนจะต้องเผชิญ จะมากหรือน้อยต่างกันเท่านั้น
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และแน่นอนที่สุด เราจะได้ทดสอบพวกเจ้าด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง จากความกลัว,ความหิว, และการเสียทรัพย์สิน,ชีวิต และพืชผล แต่จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 155

ฉะนั้นเมื่อชีวิตต้องเจอกับบททดสอบไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เราต้องอดทด,หนักแน่น ฝันฝ่าอุปสรรค์ของชีวิตอย่างคนมีสติ และด้วยหัวใจที่มั่นคงในการศรัทธา
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และผู้ใดยำเกรงต่ออัลลอฮ์ พระองค์ก็จะให้ทางออกที่ดีแก่เขา” ซูเราะห์อัตตอลาก อายะห์ที่ 2

เมื่อต้องจากดุนยา

ชีวิตในดุนยานี้ไม่ใช่ชีวิตที่ถาวร แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆที่เราได้อยู่ แล้วเราก็จากไป คนรุ่นใหม่ก็ขึ้นมาแทนที่ ไม่มีชีวิตใดที่เป็นอมตะที่อยู่โดยไม่ตายจาก เราได้รับบทเรียนเรื่องนี้อยู่ตลอด โดยทุกๆวันจะมีคนเกิดแล้วก็มีคนตายให้เราได้รู้ได้เห็น เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาของเราเท่านั้นเอง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“ไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ความตายก็จะประสพแก่พวกเจ้า ถึงแม้ว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการที่มั่นคงก็ตาม” ซูเราะห์อัลนิซาอ์ อายะห์ที่ 78

แม้จะยังไม่อยากจากดุนยานี้ไป แต่ก็ไม่มีผู้ใดเหนี่ยวรั้งเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน มีทรัพย์สินเงินทองหรือมีบริวารมากมายเพียงใดก็ตาม ครั้นเมื่อความตายมาเผชิญก็จะไม่มีผู้ใดต่อรอง หรือประวิงเวลาไว้ได้อีก อันเนื่องมาจากอายุขัยของแต่ละคนนั้นได้ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“เมื่ออายุขัยของพวกเขาได้มาถึง พวกเขาจะประวิงเวลาไว้สักครู่หนึ่งหรือเร่งให้เร็วกว่าสักครู่หนึ่งก็มิได้” ซูเราะห์อัลนะฮล์ อายะห์ที่ 61

“และอัลลอฮ์จะไม่เลื่อนเวลาให้ล่าช้าแก่ชีวิตใดเมื่ออายุขัยของมันได้มาถึง” ซูเราะห์ อัลมุนาฟิกูน อายะห์ ที่ 11

และเมื่อพระองค์อัลลอฮ์ประสงค์จะให้ผู้ใดจากดุนยานี้ไป พระองค์ก็จะให้ มะลาอิกะห์ มาถอดวิญญาณของเขาออกจากร่าง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“ประกาศเถิดมูฮัมหมัด ทูตแห่งความตายซึ่งถูกมอบหมายให้จัดการพวกท่าน จะปลิดชีวิตของพวกท่าน แล้วพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังองค์อภิบาลของพวกท่าน” ซูเราะห์อัสซะญะดะห์ อายะห์ที่ 11

ในขณะที่เรามาอยู่ในดุนยานี้เราก็ไม่ได้มาเอง และเมื่อเราต้องจากดุนยานี้ไป เราก็ไม่ได้ไปเองเช่นเดียวกัน และก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใดที่จะรับหรือส่งดวงวิญญาณ หากแต่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงให้มะลาอิกะห์ของพระองค์ มาทำหน้าที่ถอดวิญญาณออกจากร่างของมนุษย์

แต่เราเองไม่รู้ว่าวิญญาณถูกถอดออกจากร่างอย่างไร ถ้าหากพระองค์อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์มิได้ทรงบอกไว้
ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

“จนกระทั่งเมื่อวิญญาณมาถึงกระเดือก (ใกล้ตาย) ท่านก็จะกล่าวว่า อันนี้ให้คนนั้นและอันนั้นของคนนี้” รายงานโดยอะบีฮุรอยเราะห์ บันทึกโดยบุคคอรี ฮะดีษที่ 1330

“แท้จริงวิญญาณนั้นเมื่อได้ออกจากร่างไปตาก็จะมองตามไปด้วย” รายงานโดยอุมมุซะละมะห์ บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษที่ 1528

ปิดฉากชีวิตในดุนยา ซึ่งมันมิใช่เป็นบทสุดท้ายของชีวิต แต่มันคือจุดเริ่มต้นสำหรับชีวิตใหม่ใน “อาคิเราะห์น้อย” หรือที่เรียกว่า “บัรซัค”

อาคิเราะห์น้อยโลกแห่งการรอคอย

เมื่อร่างกับวิญญาณจากกัน เราได้รับรู้ว่า ร่างนั้นถูกนำไปฝังหรือถูกนำไปเผาตามความเชื่อของแต่ละศาสนา แต่ในไม่ช้าร่างนั้นก็จะสูญสลายไปตามกาลเวลา
แล้ววิญญาณไปไหน........
เป็นคำถามที่คาใจ แต่ใครจะให้คำตอบได้ เพราะคนที่อยู่นี้ก็ไม่มีใครที่เคยมีประสบการณ์ และคนที่ไปก่อนหน้าเราก็ไม่เคยกลับมาบอกเสียด้วย
พระองค์อัลลอฮ์ ได้ทรงกล่าวว่า

“และเบื้องหลังของพวกเขามีสิ่งปิดกั้นไว้ จนถึงวันที่พวกเขาถูกให้ฟื้นคืนชีพ” ซูเราะห์อัลมุอ์มีนูน อายะห์ที่ 100

เราได้รับรู้จากคัมภีร์อัลกุรอานว่า เมื่อวิญญาณได้ออกจากร่างไปแล้ว ก็ไปสู่อีกโลกหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ บัรซัค” หรือบางคนเรียกว่า “อาลัมบัรซัค” เป็นโลกที่ถูกปิดกั้นไว้ตราบจนวันกิยามะห์
คนที่ไปก่อนหน้าเราเขาก็ไปคอยอยู่ และเราก็กำลังจะก้าวตามไปสู่โลกบัรซัคเช่นเดียวกัน แต่ทั้งคนที่ไปแล้วและที่กำลังจะตามไปนี้ก็ไม่สามารถสื่อสัมพันธ์กันได้อีก เช่น เขาคิดถึงเราก็จะกลับมาเยี่ยมเราไม่ได้ และเมื่อเราคิดถึงเขา จะขอไปเยี่ยมเขาก็ไม่ได้

จริงหรือที่วิญญาณจะไม่กลับสู่โลกดุนยา

ไม่มีตัวบทหลักฐานที่ถูกต้อง (ศอเฮียะห์) ใดๆเลยที่ยืนยันว่า วิญญาณจะกลับมาในโลกดุนยานี้อีกครั้ง นอกจากเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นตำนานที่กล่าวขานกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ หรือไม่ก็เป็นคำสอนตามลัทธิ หรือตามความเชื่อของศาสนาอื่นเท่านั้น เช่นความเชื่อเรื่องวิญญาณจะเวียนว่ายตายเกิด โดยกล่าวกันว่า

- คนที่ทำดีมากวิญญาณก็จะไม่มาจุติในภพนี้อีก แต่จะไปเกิดเป็นเทวดา
- คนที่ทำดีบ้างชั่วบ้างจะได้เกิดมาในฐานะที่ลดหลั่นกันไป ตามเวรกรรมที่ได้ทำไว้แต่ชาติปางก่อน หรือเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า
- ส่วนคนที่ทำความชั่วมากเขาจะไม่ได้ผุดได้เกิดอีกในชาตินี้ แต่จะไปเป็นเปรต หรือเป็นวิญญาณเร่ร่อน รอคอยญาติอุทิศผลบุญส่งไปให้

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อตามลัทธิและตามคำสอนของศาสนาอื่นทั้งสิ้น และเมื่อมุสลิมไปน้อมรับเอาคำสอนของศาสนาอื่นมายึดถือ ก็ทำให้เกิดพิธีกรรมต้อนรับ,อัญเชิญ หรือส่งดวงวิญญาณ และการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณตามมาด้วย

บางคนเมื่อเห็นหน้าลูกหรือหลานที่เพิ่งเกิดมาใหม่ถึงกับอุทานว่า “หน้าเหมือนกี หรือเหมือนโต๊ะมันเลย สงสัยกีมันหรือโต๊ะมันกลับมาเกิด” ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องอย่างนี้จะออกมาจากปากของมุสลิม

ในเมื่อข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานในข้างต้นยืนยันว่า วิญญาณนั้นเมื่อออกจากดุนยาแล้วจะไปอยู่ที่ อาลัมบัรซัค โดยจะไม่กลับมาในโลกดุนยานี้อีกครั้ง

แล้วการอัญเชิญดวงวิญญาณ การติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณ หรือการที่วิญญาณเข้าร่างทรง หรือเข้าสิงร่างของคน หรือที่เรียกว่าผีเข้า และบางครั้งก็มาให้เห็นในฝัน อย่างนี้จะอธิบายได้อย่างไร

ความจริงคนที่มั่นคงอยู่กับการศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เหตุการณ์ข้างต้นนี้จะไม่เกิดขึ้นแก่เขาอย่างแน่นอน
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“และผู้ใดที่หันห่างจากรำลึกถึงผู้ทรงเมตตา เราจะให้ซัยตอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายสนิทของเขา” ซูเราะห์อัลซุครุฟ อายะห์ที่ 36

เมื่อไหร่ก็ตามที่หัวใจของมนุษย์หันห่างออกจากการศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์แล้ว ซัยตอนซึ่งเป็นสหายสนิทก็จะทำหน้าที่ของมันทันที โดยมันจะพูดแทน กระทำแทนเขาโดยใช้ร่างของเขาเป็นตัวแสดง

บางครั้งมันจะพูดหรือแสดงอาการของคนที่เรารักหรือเคารพนับถือที่ได้ตายจากไป ลูกหลานหรือญาติสนิทบางคนต่างก็เข้าใจว่า คนตายไปแล้วได้กลับมาจริงๆ ต่างก็เอาอกเอาใจ อยากจะกินอะไรก็จัดหามาให้

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หากเป็นคนที่เรารักหรือญาติสนิทที่ตายจากไปแล้วจริงๆ ก็น่าจะมาบอกหรือเตือนถึงสิ่งที่เขาได้ไปประสบพบเจอมา และเตือนให้ลูกหลานได้ระวัง แต่มากี่ครั้งก็ ตะกละ ทุกที อยากกินโน่นกินนี่ มิหนำซ้ำ เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะบิดไส้บิดพุงลูกหลานร่ำไป แต่...ทำให้ก็ไม่เคยพอ ได้เวลาต้องมาขอทุกที
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า
“และมนุษย์บางคนได้ขอความคุ้มครองจากญินบางตัว (ซัยตอน) ดังนั้นพวกเขาจึงทำให้มันหยิ่งพะยอง” ซูเราะห์อัลญิน อายะห์ที่ 6

ด้วยความรักด้วยความห่วงใยที่มีต่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนี่เอง ลูกหลานหรือญาติของผู้ตายมักจะทำตาม และนั่นมันเป็นการเซ่นสังเวยซัยตอนโดยไม่รู้ตัว

บัรซัคประตูสู่อาคิเราะห์

ชีวิตหลังจากความตายนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถจะคิดได้ด้วยสมองของตัวเอง เพราะมนุษย์ขาดประสบการณ์ หูก็ไม่เคยได้ยิน ตาก็ไม่เคยเห็น อีกทั้งไม่เคยลิ้มรสและไม่เคยสัมผัสมาก่อน ฉะนั้นจึงไม่มีผู้ใดสามารถจะอธิบายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง นอกจากการคาดเดาเท่านั้น
มุสลิมเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตหลังจากความตายได้จากคัมภีร์อัลกุรอาน และจากคำสอนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์
เรารู้ว่าชีวิตหลังจากความตายมีทั้งสุขและมีทั้งการทรมาน เพราะ
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

“เราจะลงโทษพวกเขาสองครั้งแล้วพวกเขาจะถูกนำไปสู่การลงโทษที่ยิ่งใหญ่อีกทีหนึ่ง” ซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 101

จากอัลกุรอานข้างต้นนี้ พระองค์อัลลอฮ์ได้พูดถึงการลงโทษแก่บรรดา มุนาฟีกีน รวมทั้งสิ้น 3 ครั้งด้วยกันคือ ครั้งแรกในดุนยา ครั้งที่สองขณะที่เขาอยู่ในบัรซัค และครั้งที่สามคือการลงโทษที่ยิ่งใหญ่ในอาคิเราะห์
ท่านหญิงอาอิซะห์ รอดิยัลลอฮุอันฮา รายงานว่า

“แท้จริงท่านนะบีมูฮัมหมัด ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นได้ขอความคุ้มครองให้พ้นจากการลงทัณฑ์ในหลุมศพ และจากความวิบัติของ อัดดัจญาล แล้วก็กล่าวว่า พวกท่านจะถูกสอบในหลุมศพของพวกท่าน” บันทึกโดยอัลนะซาอีย์ ฮะดีษที่ 2038
อัสมาอ์บุตรีของท่านอะบูบักร์ ได้รายงานว่า

“ท่านรอซูลุลลอ ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้คุตบะห์โดยได้กล่าวถึงฟิตนะห์ในหลุมศพซึ่งบุคคลต่างๆจะถูกสอบ และเมื่อท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ บรรดามุสลิมต่างก็สะอื้น” บันทึกโดย บุคคอรี ฮะดีษที่ 1284

ใครที่เคยคิดว่า ดุนยาอยู่ไม่ไหวก็ตายเสียให้มันรู้แล้วรู้รอดไปด้วยการฆ่าตัวตาย,ทำร้ายตัวเองเพื่อปิดฉากชีวิต มันเป็นความคิดที่เขลาเอามากๆทีเดียว เพราะนั่นเป็นเพียงการปิดฉากชีวิตในดุนยาเท่านั้นเอง แต่เป็นบทเริ่มต้นของอาคิเราะห์ และเพียงก้าวแรกของการเดินทางสู่อาคิเราะห์ ก็ต้องเจอกับการถูกสอบและการลงทัณฑ์เสียแล้ว
ตัวอย่างของการลงทัณฑ์ในบัรซัค เช่นฮะดีษที่ท่านอิบนิอับบาส รายงานว่า

“ท่านนะบีได้เดินผ่านหลุมศพสองที่กำลังถูกทรมานแล้วกล่าวว่า ทั้งสองนี้กำลังถูกทรมานทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต โดยหลุมหนึ่งเขาไม่รอบคอบในการชำระปัสสาวะ และอีกหลุมหนึ่งเขานินทาผู้อื่น จากนั้นท่านได้นำเอาก้านอินทผลัมสดมาฉีกเป็นสองซีกแล้วปักลงบนหลุมทั้งสอง บรรดาศอฮาบะห์ต่างก็ถามว่า ท่านทำอย่างนี้ทำไมหรือ ท่านตอบว่า หวังว่ามันจะช่วยผ่อนเบาแก่เขาทั้งสองตราบใดที่มันยังสดอยู่” บันทึกโดยบุคคอรี ฮะดีษที่ 1273
ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศอ็ลลอ็ลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“เมื่อคนใดในหมู่พวกเจ้าได้ตายไป ที่พำนักของเขาจะถูกนำมาเสนอแก่เขาทั้งในยามเช้าและในยามเย็น หากเขาเป็นชาวสวรรค์ เขาก็จะได้เป็นชาวสวรรค์ และหากเขาเป็นชาวนรก เขาก็จะต้องเป็นชาวนรกอย่างแน่นอน แล้วจะมีเสียงกล่าวว่า นี่คือที่พำนักของเจ้า จนกว่าอัลลอฮ์จะได้บังเกิดเจ้าในวันกิยามะห์” รายงานโดยท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร บันทึกโดยบุคคอรี ฮะดีษที่ 1290

กิยามะห์เกิดขึ้นแน่ แต่เมื่อไหร่
ไม่มีผู้ใดรู้ได้หรอกครับ
และที่แน่นอนที่สุดคือ คนที่เขาไปก่อนเรา เขาได้ไปคอยอยู่แล้วที่ บัรซัค

และเราก็กำลังจะตามเขาไปในไม่ช้า

ขอบคุณ ศูนย์หนังสือ นัฟฟาซี่ หนังสือดีมีค่าน่าอ่าน



บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=37