ประพจน์สามัญและประพจน์เงื่อนไข
วัน อังคาร 28 พ.ย. 06 @ 18:56
หัวข้อ: ตรรกวิทยา


قضية
حملية – شرطية

ประพจน์สามัญและประพจน์เงื่อนไข



ก่อนหน้านี้เราได้ทำความเข้าใจกันมาแล้วว่า ประพจน์หนึ่งๆนั้นอาจจะมีความหมายเฉพาะประเด็นเดียว ที่เรียกว่า ประพจน์ความเดี่ยว (เอกรรถประโยค) หรืออาจสื่อความหมายเป็นหลายประเด็นก็ได้ ที่เรียกว่า ประพจน์มากความ (อเนกรรถประโยค) ทั้งนี้โดยพิจารณาถึงเนื้อความของประพจน์นั่นเอง



แต่ถ้าพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของแต่ละประพจน์ จะจำแนกได้เป็น 2 ชนิดคือ ประพจน์สามัญ ( قضية حملية ) และประพจน์เงื่อนไข ( قضية شرطية )


ประพจน์สามัญ

ประพจน์สามัญ หรือ قضية حملية ก็คือ ประพจน์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประธาน ( موضوع ) และภาคแสดงหรือขยายความ ( محمول ) เป็นไปอย่างปกติธรรมดา กล่าวคือ ถ้าเป็นการยอมรับก็เป็นการยอมรับแบบปกติโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆมากำกับ และถ้าหากปฏิเสธก็เป็นการปฏิเสธแบบปกติเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

ประโยคยอมรับ : الانسان حيوان มนุษย์คือสัตว์ชนิดหนึ่ง
ประโยคปฏิเสธ : لا شئ من الانسان بحجر ไม่มีมนุษย์คนใดที่เป็นหิน

การยอมรับหรือการปฏิเสธตามตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นการยอมรับและปฏิเสธในภาคประธาน ( موضوع ) คือคำว่า มนุษย์ เช่นในตัวอย่างที่สองที่ปฏิเสธว่า ไม่มีมนุษย์คนใดที่เป็นหิน แต่หากเป็นการปฏิเสธในภาคขยาย ( محمول ) คือคำว่า หิน ฉะนั้นประโยคที่สองต้องให้ความหมายว่า ไม่มีหินใดๆ ที่เป็นมนุษย์ ทำให้ความหมายของข้อความทั้งสองต่างกันคือ

ไม่มีมนุษย์คนใดที่เป็นหิน และ ไม่มีหินใดๆที่เป็นมนุษย์


อย่าเพิ่งงงเต๊กนะครับ ! ลองลำดับไล่เรียงดูช้าๆ แล้วจะพบว่าประโยคทั้งสองข้างต้นนี้มีความหมายแตกต่างกันจริงๆ ถ้าเช่นนั้นลองดูตัวอย่างคลายเครียดกันหน่อยก็ดี

ท่านนักศึกษาที่เรียนศาสนาและภาษาอาหรับมาถึงขนาดนี้ คงจะเคยเจอฮะดีษที่บรรดาศอฮาบะห์ถามนบีเกี่ยวกับเรื่องน้ำทะเลใช่ไหมครับ ท่านนบีได้ตอบว่า

هُوَ الطَّهُوْرُ مَاؤهُ الحَلالُ مَيْتَتُهُ

“น้ำทะเลนั้นสะอาด สัตว์ทะเลที่ตายก็เป็นที่อนุมัติ”
บันทึกโดยอิหม่ามบุคคอรี เลขที่ 6935


คำว่า الحلال ميتته นั้นมีบางท่านให้ความหมายว่า สัตว์ที่ตายในทะเล ผมเคยแย้งความหมายนี้แบบทีเล่นทีจริงว่า ถ้าหมูวิ่งลงไปตายในทะเลก็กินได้ใช่ไหม เพราะเป็นสัตว์ที่ตายในทะเล หรือในช่วงที่ไก่ล้นตลาด เขาก็เอาไปทิ้งทะเล เราจะเก็บซากไก่นี้มากินได้ไหม คำถามเช่นนี้ทำให้ผู้แปลชักสีหน้าไม่พอใจ แต่เราก็ได้เห็นความต่างของความหมายทั้งสองประโยคที่ว่า สัตว์ทะเลที่ตาย กับ สัตว์ที่ตายในทะเล ความหมายไม่เหมือนกันจริงๆ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ในทะเลนั้นมันจะตายในทะเลหรือมันจะตายบนบกก็เป็นที่อนุมัติ อย่างนี้แหละคือเป้าหมายที่นบีพูด แล้วท่านคิดว่า ควรจะแปลด้วยความหมายใดดี คุยแก้เครียดนะครับ....ทีนี้เรามาดูกันต่อ

การพิจารณาในตัวภาคประธาน หรือ موضوع นั้น ถ้าภาคประธานกล่าวเจาะจงถึงบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ใดเป็นการเฉพาะ เช่น

ตัวอย่างประโยคยอมรับ
زيد عالم เซดเป็นผู้รู้

ตัวอย่างประโยคปฏิเสธ
زيد ليس بجاهل เซดไม่ได้โง่


ภาคประธานของประโยคทั้งสองได้กล่าวถึงเฉพาะเซด ไม่เกี่ยวกับผู้อื่น อย่างนี้เขาเรียกว่า مخصوصة หรือ شخصية คือเป็นประพจน์สามัญแบบเจาะจง
แต่ถ้าภาคประธานเป็นการพูดถึงข้อเท็จจริงของสิ่งใด ตัวอย่างเช่น

الانسان حيوان มนุษย์คือสัตว์ชนิดหนึ่ง


ตัวอย่างนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของภาคประธานที่เป็นอภิชาต ( نوع ) ของภาคขยายความที่เป็นสกุล (جنس ) อย่างนี้เขาเรียกว่า طبيعة คือประพจน์สามัญแบบธรรมชาติ


ประพจน์เงื่อนไข

ประพจน์เงื่อนไข หรือ قضية شرطية ก็คือประพจน์ที่ภาคประธานและภาคแสดงมีเงื่อนไขต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขโดยการสันนิฐานหรือเงื่อนไขในลักษณะเผื่อเลือกก็ตาม ตัวอย่างเช่น

เงื่อนไขเผื่อเลือก เช่น ถ้าฝนตกรถก็จะติด ซึ่งรถจะติดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า ฝนจะตกหรือไม่ตก

เงื่อนไขสันนิฐาน เช่น เขาจะไปบ้านหรือจะไปตลาด ซึ่งเป็นการสันนิฐานว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

اذا كانت الشمس طالعة فالنهار موجود

ถ้าหากว่าดวงอาทิตย์ขึ้น กลางวันก็จะต้องมี


เราจะเห็นได้ว่าประพจน์เงื่อนไขหรือ قضية شرطية นี้ประกอบด้วยสองประโยครวมกันดังในตัวอย่างข้างต้น ประโยคแรกคือคำว่า ดวงอาทิตย์ขึ้น ถูกเรียกว่าภาคประธานของประพจน์เงื่อนไข ( مقدم ) และประโยคที่สองคือ กลางวันจะต้องมี ถูกรียกว่าเป็นภาคขยายของประพจน์เงื่อนไข ( تالي ) ซึ่งทั้งสองประโยคนี้เป็นเงื่อนไขต่อกัน โดยมีคำที่แสดงความเป็นเงื่อนไข คือคำว่า หากว่า นั่นเอง

คำภาษาอาหรับที่แสดงความเป็นเงื่อนไขในประพจน์ชนิดนี้ เช่นคำว่า اذاكان - ان كان - لو - لولا อย่างนี้เป็นต้น







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=325