ซูเราะห์อัลฟาติฮะห์
วัน อังคาร 28 พ.ย. 06 @ 02:02
หัวข้อ: ตัฟซีรอัลกุรอาน





โดย อบูบาซิ้ล



سورة الفا تحة

ปฐมบท


ชื่อบท

อัลฟาติฮะห์ เป็นคำนาม มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับที่เป็นคำกริยา 3 อักษรคือ فَتَحَ มีความหมายว่า เปิด เมื่ออยู่ในรูปคำนามตามชื่อบทนี้จึงมีความหมายว่า การเปิด หรือ การเริ่มต้น ชาวอาหรับมักนิยมกล่าวคำว่า อัลฟาติฮะห์ เพื่อบอกถึงการเริ่มต้นของกิจการหรือภารกิจใดๆ เสมอ เช่นเมื่อกล่าวว่า อัลฟาติฮะห์ ก็หมายถึงให้เริ่มงานนั้นได้แล้ว แต่มิได้หมายถึงให้ทุกคนอ่าน ซูเราะห์อัลฟาติฮะห์ พร้อมกันๆ เหมือนคนบ้านเราได้กระทำ

นอกจากจะถูกเรียกว่า อัลฟาติฮะห์ แล้วยังถูกเรียกอีกหลายชื่อด้วยกันเช่น ฟาติฮะตุ้ลกิตาบ, อุมมุ้ลกุรอาน และ ซับอุ้ลมะซานี


ท่านอบูฮุรอยเราะห์ (ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ) ได้รายงานว่า

قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ أمُّ القُرْآنِ هِيَ السَبْعُ المَثَانِي وَالقرآنُ العَظِيْمُ


ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “แม่บทของอัลกุรอาน มันคือเจ็ดวรรคที่ถูกอ่านซ้ำๆ และเป็นอัลกุรอานที่ยิ่งใหญ่” บันทึกโดยอิหม่ามบุคคอรี ฮะดีษเลขที่ 4335

คำว่า ฟาติฮะตุ้ลกิตาบ หมายถึงบทเริ่มแรกของคัมภีร์ เพราะถูกจัดเรียงไว้เป็นบทแรกของอัลกุรอานนั่นเอง แม้ว่าจะมิใช่เป็นบทแรกของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาก็ตาม

ส่วนที่เรียกว่า อุมมุลกุรอาน หมายถึงแม่บทของอัลกุรอานนั้น เพราะเนื้อหาของบทนี้ครอบคลุมความหมายของอัลกุรอานทั้งหมด ท่านอิหม่ามบุคคอรีได้กล่าวไว้ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการอธิบายอัลกุรอานว่า “เพราะเป็นบทแรกของการเรียงลำดับในอัลกุรอาน และเป็นบทแรกของอัลกุรอานที่ถูกอ่านในละหมาดทุกครั้ง”

และเหตุที่เรียกว่า ซับอุ้ลมะซานี หมายถึงบทที่ถูกอ่านซ้ำไปซ้ำมา ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะบรรดามุสลิมทั้งโลกได้อ่านบทนี้ทุกครั้งในขณะละหมาดนั่นเอง

เวลาที่ถูกประทานลงมา

เป็นบทที่ถูกเรียกว่า มักกียะห์ หมายถึงได้ถูกประทานลงมาก่อนการอพยพ ( คือการเดินทางของท่านนบีและเหล่าศอฮาบะห์ จากนครมักกะห์สู่นครมะดีนะห์ ) บางท่านกล่าวว่า เป็นบทมะดะนียะห์ คือประทานลงมาหลังจากอพยพแล้ว และบางท่านก็กล่าวว่า ถูกประทานลงมาสองครั้งด้วยกัน คือทั้งก่อนอพยพและหลังจากอพยพ แต่นักวิชาการโดยส่วนใหญ่ได้ยืนยันว่า เป็นบทมักกียะห์ คือถูกประทานลงมาก่อนการอพยพ และนั่นเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนมากที่สุด
อัลฟาติฮะห์ได้ถูกประทานลงมาหลังจากซูเราะห์ อัลมุดดัรซิร

จำนวนวรรค,คำและอักษร

มีจำนวนทั้งสิ้น 113 อักษร ประกอบเป็น 25 คำ แยกเป็น 7 วรรคหรือ 7 อายะห์ โดยมติเอกฉันท์ และแม้ว่านักวิชาการจะมีความเข้าใจตรงกันในจำนวนวรรค แต่ก็มีความเข้าใจที่ต่างกันในเรื่องวิธีการนับจำนวนวรรค ซึ่งจะได้นำมากล่าวในการอธิบายวรรคแรกของบทนี้ (อินชาอัลลอฮ์)

ความประเสริฐของอัลฟาติฮะห์

عَنْ أَبِى سَعِيْدِ بْنِ المُعَلىَّ قَالَ كُنْتُ أصَلِّي فِى المَسْجِدِ فَدَعَانِي رَسُوْلُ اللهِ صَلى اللهُ عَلْيهِ وَسَلّّمَ
فَلمْ أُجِبْهُ فَقُلْتُ يَا رَسُوْلَ اللهِ اِنِّي كُنْتُ أُصَلِّي فَقَالَ أَلَمْ يَقُلِ اللهُ اسْتَجِيْبُوا ِللهِ وَلِلرَّسُوْلِ اِذَا دَعَاكُمْ
لِمَا يُحْيِيكُمْ ثُمَّ قَالَ لِي لَأعَلِمنَّكَ سُوْرَةً هِيَ أَعْظَمُ السُوَرِ فِي القُرْآنِ قَبْلَ أنْ تَخْرُجَ مِنَ المَسْجِدِ
ثُمَّ أَخَذَ بِيَدِي فَلَمَّا أَرَادَ أَنْ يَخْرُجَ قُلْتُ لَهُ أَلَمْ تَقُلْ لَأُعَلِّمنَكَ سَوْرَةً هِيَ أَعْظَمُ سُوْرَةٍ فِي القرْآنِ
قَالَ الْحَمْدُ لِلهِ رَبِّ العَالَمِيْنَ هِيَ السَبْعُ المَثَانِي وَالقُرْآنُ العَظِيْمُ الَّذِي أُوْتِيتُهُ


อบีสะอี๊ด อัลมุอัลลา ได้ราบงานว่า “ขณะที่ฉันละหมาดอยู่ในมัสยิด ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้เรียกฉัน แต่ฉันไม่ได้ขานรับ เมื่อเสร็จแล้วฉันได้ไปหาท่านแล้วกล่าวว่า โอ้ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ฉันกำลังละหมาดอยู่ ท่านกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮ์มิได้กล่าวหรอกหรือว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงตอบรับอัลลอฮ์ และรอซูล เมื่อเขาได้เรียกพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตจิตใจ (ซูเราะห์อัลอัมฟาล อายะห์ที่ 24) แล้วท่านรอซูลก็กล่าวแก่ฉันว่า ฉันจะสอนบทหนึ่งให้ท่าน มันเป็นบทที่ยิ่งใหญ่ในอัลกุรอาน ก่อนที่ท่านจะออกจากมัสยิด แล้วท่านก็จับมือของฉันไว้ และเมื่อท่านจะออกจากมัสยิด ฉันจึงได้กล่าวทวงท่านว่า ท่านบอกว่าจะสอนฉันบทหนึ่งซึ่งเป็นบทที่ยิ่งใหญ่ในอัลกุรอานมิใช่หรือ ท่านตอบว่า อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิร๊อบบิ้ลอาลามีน คือเจ็ดวรรคที่ถูกอ่านซ้ำๆ และคืออัลกุรอานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้ถูกนำมาให้แก่ฉัน” บันทึกโดยบุคคอรี ฮะดีษเลขที่ 4114

عَنْ أبِي هُرَيْرَة َرضِىَ اللهُ عَنْهُ عَنِ الَنِبيِ صَلىَ اللهُ عَلْيهِ وَسَلّمَ قَالَ مَنْ صَلَّى صَلاةً لَمْ يَقْرَأ
فِيْهَا بِأُمِّ القُرْآنِ فَهِيَ خِدَاجٌ ثَلاثًا غَيْرَ تَمَامٍ فَقِبْلَ لأبِي هُرَيْرَة َاِنَّا نَكُوْنُ وَرَاءَ الامَامِ فَقالَ اِقْرَأ
بِهَا فِي نَفْسِكَ فَاِنِّي سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ قَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ قَسَمْتُ الصَلاةَ
بَيْنِي وَبَيْنَ عَبْدِي نِصْفَيْنِ وَلِعَبْدِي مَا سَألَ فَاِذَا قَالَ العَبْدُ الحمد لله رب العالمين قَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ
حَمِدَنِي عَبْدِي وَاِذَا قَالَ الرحمان الرحيم قَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ أَثْنَى عَليَّ عَبْدِيْ وَاِذَا قَالَ مالك يوم الدين قَالَ اللهُ مَجَّدَنِي عَبْدِي وَقَالَ مَرَّةً فَوَّضَ اِلَيَّ عَبْدِي فَاِذَا قَالَ اياك نعبد واياك نستعين قَالَ
هَذاَ بَيْنِيْ وَبَيْنَ عَبْدِي وَلِعَبْدِيْ مَا سَألَ فَاِذَا قَالَ اهدنا الصراط المستقيم صراط الذين انعمت عليهم
غير المغضوب عليهم ولا الضالين قَالَ هَذاَ لِعَبْدِيْ وَلِعَبْدِيْ مَا سَألَ


อบูฮุรอยเราะห์ ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ รายงานจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า “ผู้ใดที่ละหมาดโดยไม่อ่านอุมมุ้ลกุรอาน การละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ ท่านกล่าวถึง 3 ครั้ง คือไม่สมบูรณ์ มีผู้กล่าวแก่อบูฮุรอยเราะห์ว่า พวกเราละหมาดโดยเป็นมะอ์มูมอยู่หลังอิหม่าม อบูฮุรอยเราะห์ตอบว่า จงอ่านมันในใจ เพราะแท้จริงฉันเคยได้ยินท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า ข้าแบ่งการละหมาดระหว่างข้ากับบ่าวของข้าเป็นสองส่วน และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ ฉะนั้นเมื่อบ่าวได้กล่าวว่า อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิร๊อบบิ้ลอาลามีน พระองค์อัลลอฮ์ก็กล่าวว่า บ่าวของข้าได้สรรเสริญข้า และเมื่อบ่าวกล่าวว่า อัลเราะห์มานนิรร่อฮีม พระองค์อัลลอฮ์ก็กล่าวว่า บ่าวของข้าได้ขอบคุณข้า และเมื่อบ่าวกล่าวว่า มาลิกิเยามิดดีน พระองค์อัลลอฮ์ก็กล่าวว่า บ่าวของข้าได้ให้ความยิ่งใหญ่แก่ข้า และบางครั้งก็กล่าวว่า บ่าวของข้าได้ให้ความสำคัญแก่ข้า และเมื่อบ่าวกล่าวว่า อี้ยากะนะอ์บุดุว่าอี้ยากะนัสตะอีน พระองค์อัลลอฮ์ก็กล่าวว่า สิ่งนี้ระหว่างข้ากับบ่าวของข้า และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ และเมื่อบ่าวกล่าวว่า อิฮ์ดินัสซิรอตอลมุสตะกีม... (จนจบ) พระองค์อัลลอฮ์ก็กล่าว่า สิ่งนี้สำหรับบ่าวของข้า และสำหรับบ่าวของข้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ” บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 598







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=324