ตอนที่ 24 ฮะดีษกุดซีย์
วัน เสาร์ 28 ต.ค. 06 @ 02:42
หัวข้อ: อุลูมุ้ลฮะดีษ



การจำแนกฮะดีษโดยพิจารณาถึงแหล่งที่มา


ฮะดีษโดยการพิจารณาถึงแหล่งที่มานั้นถูกจำแนกออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่า ฮะดีษบทนั้นสายรายงานที่อ้างสืบไปถึงผู้ใด

สืบถึงพระองค์อัลลอฮ์ เรียกว่า ฮะดีษ กุดซีย์
สืบถึงท่านรอซูล เรียกว่า ฮะดีษ มัรฟัวอ์
สืบถึงศอฮาบะห์ เรียกว่า ฮะดีษ เมากูฟ
สืบถึงตาบีอีนหรือ ตาบิอิตตาบีอีน เรียกว่า ฮะดีษ มั๊กตัวอ์


ฮะดีษกุดซีย์


ฮะดีษกุดซีย์คือเรื่องราวที่ท่านรอซูล กล่าวอ้างถึงพระองค์อัลลอฮ์ แต่มิใช่อัลกุรอาน ซึ่งบรรดานักวิชาการได้ให้คำจำกัดความ ฮะดีษกุดซีย์ ว่า
เรื่องที่ท่านรอซูลได้รายงานจากพระองค์อัลลอฮ์ ในด้านความหมาย ซึ่งคำรายงานนั้นเป็นคำของท่านรอซูลเอง โดยญีบรีลเป็นผู้นำความหมายนี้มาบอกกับท่านรอซูล
เหตุที่เรียกว่า ฮะดีษ ก็เพราะเป็นเรื่องที่ท่านรอซูลได้รายงาน (ถ้อยความ)
เหตุที่เรียกว่า กุดซีย์ เพราะเป็นเรื่องที่อ้างถึงพระองค์อัลลอฮ์ (ความหมาย) ซึ่งคำว่า กุดซีย์ ในทางภาษานั้นหมายถึง ความบริสุทธิ์



สำนวนการรายงานของฮะดีษกุดซีย์

ท่านจะทราบได้ทันทีว่า ฮะดีษที่รายงานมานั้นเป็นฮะดีษกุดซีย์ ก็ต่อเมื่อ การรายงานนั้นท่านรอซูลได้อ้างถึงพระองค์อัลลอฮ์ เช่น

1 – ท่านรอซูล ทรงกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า..........
2 – พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าว โดยคำรายงานจากท่านรอูลว่า..........
3 – ท่านรอซูลได้กล่าวด้วยเรื่องที่รายงานจากพระองค์อัลลอฮ์ว่า.............

ตัวอย่างฮะดีษกุดซีย์

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَة َرَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ . قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلّىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ . قَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ .
يُؤْذِينِي ابْنُ آدَمَ يَسُبُّ الدَهْرَ وَأنَا الدَهْرُ بِيَدِي الأمْرُ أُ قَلِّبُ اللَيْلَ وَالنَهَارَ


รายงานจากอบีฮุรอยเราะห์ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศอ็ลลอ็ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า พระองค์อัลลอฮ์ อัซซะวะญัล ได้กล่าวว่า “ลูกหลานของอาดัมได้ให้ร้ายข้า เขาด่ากาลเวลา ขณะที่ข้าเป็นผู้บริหารกาลเวลา กิจการต่างอยู่ในกรรมสิทธิ์ของข้า ข้าได้สับเปลี่ยนกลางวันและกลางคืน” บันทึกโดย อิหม่ามบุคคอรี

ถ้อยคำและความหมายของฮะดีษกุดซีย์

นักวิชาการฮะดีษมีทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องถ้อยคำและความหมายของฮะดีษกุดซีย์ ดังนี้
1 – บางท่านให้ทัศนะว่า ถ้อยคำที่ถูกระบุอยู่ในฮะดีษกุดซีย์นั้น เป็นถ้อยคำของพระองค์อัลลอฮ์ เช่นเดียวกับอัลกุรอาน ฉะนั้นฮะดีษประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า กุดซีย์ ซึ่งมีความหมายว่า บริสุทธิ์
2 – นักวิชาการฮะดีษโดยส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่า ความหมายของฮะดีษกุดซีย์มาจากพระองค์อัลลออ์ ส่วนถ้อยคำของฮะดีษกุดซีย์นั้น เป็นถ้อยคำของท่านนบีเอง เพราะถ้อยคำของพระองค์อัลลอฮ์มีอยู่ชนิดเดียวคืออัลกุรอาน

ความแตกต่างระหว่างฮะดีษกุดซีย์กับอัลกุรอาน

1 – อัลกุรอานเป็น มัวอ์ญีซาต (สิ่งมหัศจรรย์) ที่มาจากอัลลอฮ์ ทั้งถ้อยคำและความหมายยังคงเป็นสิ่งท้าทายที่ไม่มีผู้ใดสามารถเลียนแบบได้ ซึ่งต่างกับฮะดีษกุดซีย์ ที่ไม่ถูกนับว่าเป็นมัวอ์ญีซาต
2 – อัลกุรอานถูกเรียกว่า กะลามุลลอฮ์ (พจนารถแห่งอัลลอฮ์) ทั้งถ้อยคำและความหมายเป็นวะฮีย์ ที่ถูกนำมามอบให้แก่ท่านนบีโดยญิบรีล แต่ฮะดีษกุดซีย์นั้น แม้จะถูกนับว่าเป็นวะฮีย์จากอัลลอฮ์ด้วย แต่ก็ความหมายเท่านั้น ส่วยถ้อยคำของฮะดีษกุดซีย์นั้น เป็นถ้อยคำของท่านนบีเอง
3 – การอ่านอัลกุรอานแต่ละตัวอักษรจะได้รับผลบุญจำนวน 10 เท่า ส่วนฮะดีษกุดซีย์นั้น ได้รับภาคผลโดยรวมจากการศึกษา และเมื่อปฏิบัติฮะดีษกุดซีย์ก็ไม่มีรายงานรับรองว่าจะได้รับผลบุญทุกตัวอักษรตามที่ระบุอยู่ในฮะดีษนั้น
4 – ไม่อนุญาตให้นำเอาฮะดีษกุดซีย์ไปอ่านแทนอัลกุรอานในละหมาด
5 – อัลกุรอานนั้นถูกถ่ายทอดมาในลักษณะ มุตะวาติร คือมีผู้รายงานจำนวนในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งต่างกับฮะดีษกุดซีย์ที่บางบทที่ถูกถ่ายทอดมาโดยผู้รายงานจำนวนน้อย (อาฮาด)
6 – ไม่อนุญาตให้รายงานอัลกุรอานด้วยความหมาย และไม่อนุญาตให้เปลี่ยนถ้อยคำในอัลกุรอานโดยการนำคำอื่นมาแทนที่ ซึ่งต่างกับฮะดีษกุดซีย์ที่สามารถรายงานด้วยความหมาย หรือเปลี่ยนถ้อยคำรายงานได้ แต่เนื้อหาและเป้าหมายของฮะดีษจะต้องคงอยู่
7 – อัลกุรอานเป็นวะฮีย์ที่ญิบรีลทยอยนำมามอบให้แก่นบี เป็นครั้งคราวตามแต่วาระ และพระองค์อัลลอฮ์ได้ให้ญิบรีลมาทบทวนและเรียบเรียงให้ท่านนบีทราบ ซึ่งถูกจำแนกเป็นหมวด,บท,วรรค เรียกว่า ซูเราะห์,และ อายะห์ แต่ฮะดีษกุดซีย์ ไม่ถูกนับเป็นซูเราะห์ หรือ อายะห์
8 – ไม่อนุญาตให้สัมผัสหรืออ่านอัลกุรอาน สำหรับสตรีมีประจำเดือน, สตรีที่มีน้ำคาวปลาจากการคลอดบุตร, ผู้มีญุนุบ (ฮะดัษใหญ่) หรือผู้ที่มีฮะดัษ (ไม่มีน้ำละหมาด) แต่นักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่อ่านเพื่อขอความคุ้มครอง หรือเพื่อการเรียน,การสอน ซึ่งต่างกับฮะดีษกุดซีย์ที่ไม่มีเงื่อนไขในข้อนี้
9 – ไม่อนุญาตให้ขายอัลกุรอาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ฮะดีษกุดซีย์นั้นเป็นที่อนุญาตโดยไม่มีประเด็นขัดแย้ง
10 – อัลกุรอานอ้างอิงถึงพระองค์อัลลอฮ์โดยเฉพาะ ต่างกับฮะดีษกุดซีย์ที่อ้างอิงถึงพระองค์อัลลอฮ์และท่านรอซูลด้วย







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=318