องค์ความรู้ของตรรก
วัน พฤหัสบดี 27 ก.ค. 06 @ 12:06
หัวข้อ: ตรรกวิทยา


หลังจากที่ผมเขียนบทนำของวิชาตรรก โดยกล่าววิจารณ์ว่า

“วิชามันติกหรือตรรกนี้ เป็นดั่งดาบสองคม ที่สามารถประหารผู้เรียนได้เสมอ ฉะนั้นการเรียนวิชานี้ ถ้าเรียนแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ใช้ให้ถูกด้วย ไม่เช่นนั้นอะกีดะห์ก็จะพังได้โดยง่าย” และ
“วิชานี้มีประโยชน์ถ้ารู้จักนำมาใช้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกระวังธาตุไฟจะแตกอะกีดะห์จะแหลกลาน”




ต่อมาได้มีสมาชิกเกิดความสงสัยในข้อความข้างต้นนี้ บางท่านสอบถามตรงๆว่า “อาจารย์ฟาริดต่อต้านการเรียนวิชานี้หรือ ? ทำไมมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรจึงสอนวิชานี้ถ้าเป็นวิชาที่ทำลายอะกีดะห์อย่างที่อาจารย์เขียนในบทนำ ? และ ฯลฯ

ความจริงผมได้แจ้งถึงที่มาของวิชาตรรกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และได้บอกถึงวัตถุประสงค์หลักของการถ่ายทอดวิชานี้ในแวดวงของผู้ศึกษาอัลอิสลาม คือเพื่อใช้เป็นอาวุธต่อต้านการทำลายอิสลาม ไม่ใช่นำมาใช้เพื่ออธิบายฮุก่มศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของอะกีดะห์ เนื่องจากว่าที่มาขององค์ความรู้แห่งตรรกนั้น ถือเอาเฉพาะความรู้ประจักษ์ ที่สมองหรือสติปัญญาสามารถรับรู้และสัมผัสได้ ซึ่งเป็นฐานที่สามารถนำไปสู่กระบวนการคิดหาเหตุผล ฉะนั้นศาสตร์แห่งจึงวางกฎแห่งความคิดไว้ ซึ่งเป็นกฎฐานราก 4 ฐานได้แก่

1 – กฎแห่งความเหมือน คือทุกสิ่งจะบอกถึงความเป็นตัวมันเอง ไม่ว่าจะบอกถึงรูปลักษณ์, ชนิด,ขนาด หรือธรรมชาติของตัวมันเอง เช่น เราบอกว่านาย ก เป็นคน ก็เพราะความเป็นคนของนาย ก เป็นที่ประจักษ์โดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ หรือเราเห็นไฟที่กำลังลุกโชนอยู่ เราก็เชื่อว่า ไฟนั้นร้อนโดยที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ ซึ่งกฎแห่งความเหมือนนี้ก็คือ ข้อเท็จจริงของสิ่งต่างๆ นั่นเอง

2 – กฎแห่งความขัดแย้ง คือสิ่งไม่สามารถจะมีขึ้นหรือเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน หรือไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นหรือมีขึ้นในสถานที่เดียวกัน เช่น โลกนี้มีผู้สร้าง และไม่มีผู้สร้าง ในเวลาเดียวกันไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใด

3 – กฎแห่งความไม่มี คือสิ่งที่มีความขัดแย้งในตัวของมันที่จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน หรือสถานที่เดียวกันไม่ได้ จำเป็นต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น กระดาษใบนี้สีขาวและสีไม่ขาวด้วย หรือหินก้อนนี้แข็งและไม่แข็งด้วย ซึ่งความขาวและไม่ขาว หรือความแข็งและไม่แข็งจะคือความจริงของสิ่งนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

4 – กฎของเหตุและผลที่พอเพียง คือการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่ง หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนหรือต้องมีเหตุผลที่พอเพียงที่จะก่อให้เกิดสิ่งนั้น หรือมีเหตุผลที่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเกิดคลื่นยักษ์ซึนามิ ก็จะต้องมีเหตุพอเพียงที่จะทำให้น้ำทะเลกลายเป็นคลื่นยักษ์ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อเราได้เข้าใจถึงองค์ความรู้ของตรรกแล้วก็ทำให้พอจะมองเห็นภาพว่า มันต่างจากฐานความรู้หรือองค์ความรู้แห่งอิสลาม เพราะที่มาขององค์ความรู้แห่งอิสลามนั้นเป็น วะฮ์ยุน จากพระเจ้า ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจหรือตามประสบการณ์ของมนุษย์ และบางเรื่องก็ไม่สามารถเอาสมองหรือปัญญาของมนุษย์ไปอธิบายได้ เช่นเกี่ยวกับเรื่อง มัวอ์ญีซาต (สิ่งมหัศจรรย์-ปาฏิหาริย์) ที่บรรดาผู้ศรัทธาก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง โดยไม่สมารถเอาเหตุผลไปล้มล้างวะฮีย์ของพระเจ้าได้ ตัวอย่างเช่น การที่ท่านนบีมูซาใช้ไม้เท้าฟาดน้ำทะเล แล้วน้ำทะเลได้แยกออกจนสองฝั่งสูงดั่งขุนเขา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน หรือกรณีที่นบีอิบรอฮีมถูกโยนลงในกองเพลิงที่มีไฟลุกโชน โดยตามความเป็นจริงแล้ว ไฟจะต้องเผาผลาญนบีอิบรอฮีมจนมอดไหม้ แต่ไฟนั้นกลับไม่ร้อน และไม่เป็นอันตรายใดๆ แก่นบีอิบรอฮีม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงนำมากล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นเดียวกัน และแม้ว่าองค์ความรู้แห่งตรรกไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลก็ตาม แต่บรรดาผู้ศรัทธาก็เชื่อมั่นอย่างสนิทใจ เพราะเป็นกะลามุ้ลลอฮ์ หรือดำรัสของอัลลอฮ์นั่นเอง







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=312