บทนำ
วัน เสาร์ 07 ม.ค. 06 @ 16:31
หัวข้อ: ตรรกวิทยา


โดย อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้

บทนำ


มีนักศึกษาภาษาอาหรับหลายคนสอบถามมาทางเมล์บ่อยครั้ง ให้ผมช่วยอธิบายวิชามันติก หรือตรรกวิทยา ให้เข้าใจเพราะต้องทำข้อสอบ ซึ่งความจริงแล้วผมไม่ได้จบมาทางด้านปรัชญาโดยตรง แต่ก็เคยเรียนและผ่านวิชานี้มาบ้างเท่านั้น แต่เนื่องจากไม่มีเวลาว่างมากนักที่จะตอบคำถามและอธิบายเรื่องนี้ให้เป็นรายบุคคล แต่ก็รับปากว่าจะทำบทสรุปเรื่องนี้ให้แล้วนำลงเป็นบทความทางเวปไซต์ ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่า จะมีเวลาอธิบายได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ บางที กว่าที่ผมจะอธิบายจนจบวิชา น้องๆที่สอบถามกันเข้ามาอาจจะจบกลับมาเป็นอาจารย์กันแล้วก็ได้ ( คุยไม่เครียดครับ..เรียนวิชานี้อย่าเครียด ) แต่ก็จะพยายาม อินชาอัลลออ์



ต้องยอมรับว่าวิชามันติกนี้เป็นหนึ่งในวิชาที่ต้องอาศัยการจดจำและความเข้าใจเป็นหลัก แต่นักศึกษาที่ไปจากประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะมีพื้นฐานด้านนี้เท่าไหร่นัก (รวมทั้งตัวผมเองในอดีตด้วย ) นอกจากบางสถาบันในเมืองไทยที่สอนตรรกในขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นก็ต้องขุดคุ้ยกันเอาเอง บางครั้งต้องค้นคว้าจากตำราที่เรียนกันตามมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่บางคนอ่านตำราภาษาไทยแล้วผลปรากฏว่า ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง เพราะมีปัญหาการเทียบเคียงทางภาษา ซึ่งการถ่ายภาษาอาหรับกับภาษาไทยจะไม่ลงตัวกันเสมอไป ฉะนั้นบางคนจึงเปลี่ยนชื่อวิชานี้เสียใหม่จาก มันติก เป็น งงเต็ก หรือมึนตึบ

ความจริงแล้ววิชามันติก หรือตรรกวิทยานี้เป็นศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดมาจากนักปรัชญากรีก ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเช่น เพลโต้, โซเครติส,อริสโตเติล, ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตกเลยทีเดียว

มันติกเป็นศาสตร์ของการจัดระเบียบความคิด และกระบวนการพิสูจน์หาเหตุผล เป็นที่นิยมศึกษากันทางกลุ่มตะวันตก จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าใครจะเป็นปราชญ์ต้องมีความรู้เรื่องศาสตร์แห่งตรรกด้วย ซึ่งในยุคต้นนั้น ชาวตะวันตกได้ใช้ศาสตร์นี้เป็นหอกในการใส่ไคล้อัลอิสลาม และใช้เป็นเกราะในการสนทนาโต้ตอบกับนักวิชาการอิสลามอยู่เป็นเนืองๆ ซึ่งเป็นการยากแก่นักวิชาการมุสลิมที่จะอ้างอิงอัลกุรอานและอัลฮะดีษเป็นหลักฐานกับผู้ที่ไม่ศรัทธา ฉะนั้นจึงเป็นการโต้ตอบกันด้วยคารมและเหตุผลเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองนักวิชาการมุสลิมเช่น อิบนุซีนา หรืออบูอาลี ( ค.ศ. 980 – 1037 ) จึงได้เรียนศาสตร์นี้แล้วถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับ และได้มีการศึกษากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเกราะในการตอบโต้แนวคิดบิดเบือน และในการปกป้องอิสลาม

แต่ก็ใช่ว่าอิสลามจะไม่มีศาสตร์ของตรรกเสียเลยทีเดียว หากเราศึกษาวิชาฮาดีษก็จะพบว่าคำสอนของท่านรอซูลบางเรื่องก็ใช้วิธีการแห่งตรรกเช่นเดียวกัน (ขอย้ำคำว่าวิธีการไม่ใช่เอาตรรกเป็นหลักการ) ตัวอย่างเช่นคำของท่านนบีที่ว่า

كل محدثة بدعة
وكل بدعة ضلا لة
وكل ضلا لة فى النار


คนที่เคยร่ำเรียนมันติก เมื่อพบสำนวนความเหล่านี้จะเข้าใจโดยทันทีว่า นี่คือหนึ่งในวิธีการนำเสนอแบบตรรกนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจจะมีผู้ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมนักวิชามุสลิมจึงไม่ได้ศาสตร์แห่งตรรกอย่างท่านนบีหลักในการเรียนรู้ เรื่องนี้ตอบได้ไม่ยากคือ เหตุก็เพราะต้องการใช้ดาบของศัตรูฟันศัตรู หรือดังคำพังเพยที่ว่า รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง และที่สำคัญก็คือ อิสลามเป็นวะฮีย์จากอัลลอฮ์ มิใช่จากสมองปัญญาผู้ใด

ความจริงในกระบวนวิชาการอิสลามนั้น มีศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่าตรรกนี่เสียอีก ศาสตร์ที่ว่านี้คือ วิชาอุศูลุ้ลฟิกฮิ์ ที่มีความละเอียดละลอมากกว่าตรรกหลายเท่า และเป็นศาสตร์ที่มีความเกี่ยวพันกับฮุก่มศาสนาโดยตรง ฉะนั้นถ้าใครเรียนวิชาอุศูลุ้ลฟิกฮ์เข้าใจ ก็จะอ่านวิชามันติกเข้าใจด้วยโดยไม่ยากเลย

แต่สิ่งที่อยากจะกล่าวเตือนกันไว้ก็คือ วิชามันติกหรือตรรกนี้ เป็นดั่งดาบสองคม ที่สามารถประหารผู้เรียนได้เสมอ ฉะนั้นการเรียนวิชานี้ ถ้าเรียนแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ใช้ให้ถูกด้วย ไม่เช่นนั้นอะกีดะห์ก็จะพังได้โดยง่าย เหตุเพราะในยุคหลังๆได้มีการนำเอาศาสตร์แห่งตรรกมาอธิบายเรื่องอะกีดะห์ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้จักอัลลอฮ์ และคุณลักษณะของพระองค์ ทั้งที่ความจริงศาสตร์แห่งตรรกที่ได้ศึกษากันอยู่นี้ เป้าหมายเดิมคือเพื่อตอบโต้ผู้ใส่ไคล้อิสลาม ที่สำคัญก็คือ เป็นศาสตร์ที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของชาวตะวันตก ทั้งทฤษฎีและกฏเกณฑ์ของกระบวนการมาจากสมองปัญญาของมนุษย์ทั้งสิ้น ฉะนั้นย่อมมีข้อผิดพลาดได้เสมอ หรือกล่าวได้ว่า ทฤษฎีที่ผิดพลาด ผลที่ออกมาย่อมผิดพลาดด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการจะเอาศาสตร์นี้ไปอธิบายวิชาการอิสลาม เช่นเรื่องอะกีดะห์ โดยเฉพาะการเรียนรู้จักอัลลอฮ์ และคุณลักษณะของพระองค์ จึงเป็นอันตรายอย่างมหันต์


โครงสร้างของวิชามันติก

มันติก หรือตรรกวิทยา เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องการจัดระเบียบความคิด และการพิสูจน์หาเหตุผล จำแนกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

ภาคที่ 1 เป็นการบรรยายเกี่ยวกับ ตะอ์รีฟาต คือกระบวนการจำกัดความ หรือการให้คำนิยามของสิ่งต่างๆ มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการคือ ญินซ์ (สกุล) นัวอ์ (อภิชาต) ฟัตล์ (แผกเพี้ยน) คอส (สภาวลักษณ์) อะรอดอาม (สหสมบัติ) ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร

การให้คำนิยามหรือการจำกัดความคำใดๆก็ตาม จะสมบูรณ์ได้ก็ต้องมีองค์ประกอบครบทั้งห้าประการข้างต้นนี้ เช่นหากมีผู้ถามว่า มนุษย์คืออะไร ถ้าคุณตอบว่า มนุษย์ก็คือสัตว์โลกชนิดหนึ่งละก็ การจำกัดความ มนุษย์ ด้วยคำว่า สัตว์โลกชนิดหนึ่ง นี้บกพร่องครับ เป็นคำจำกัดความที่ไม่สมบูรณ์ เพราะอาจจะมีผู้แย้งได้ว่า สิงโต ก็คือสัตว์โลกชนิดหนึ่งเหมือนกันทำไม่เรียกมนุษย์ด้วย ฉะนั้นจึงต้องหาคำจำกัดความที่ให้รายละเอียดสมารถแยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่นๆ ได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงถูกให้คำจำกัดความว่าคือ สัตว์ที่มีปัญญาเดินได้หัวเราะได้ คำว่า มนุษย์คือนัวอ์ คำว่าสัตว์คือญินซ์ คำว่ามีปัญญาคือคอส คำว่าเดินได้คืออะรอดุลอาม และคำว่าหัวเราะได้คือฟัตล์ อย่างนี้เป็นต้น

ภาคที่ 2 เป็นกระบวนการพิสูจน์เหตุผล ด้วยการตั้งประพจน์ต่าง (กอดียะห์) มีทั้งประพจน์เสนอ ประพจน์สนอง (ซุครอและกุบรอ) และผลลับ (นะตีญะห์) เช่น

นาย ก เป็นคน
คนทุกคนต้องตาย
นาย ก ต้องตาย


เมื่อได้ผลลับเช่นนี้แล้ว ก็สามารถนำผลลับนี้ไปตั้งประพจน์ใหม่เพื่อหาผลต่อไปได้อีก ซึ่งการตั้งรูป (ชักล์) นี้มีกฏกติกา ตรงนี้ต้องท่องจำสูตรเอานะครับ เช่นประพจน์เสนอเป็นประโยคยอมรับ (กอดีญะห์ฮัมลียะห์มูญีบะห์) ประพจน์สนองประโยคปฏิเสธ ( กอดีดียะห์ฮัมลียะห์ซาลิบะห์ ) ผลลับจะออกมาเป็นเช่นไร

หรือประพจน์แบบมีเงื่อนไข (กอดียะห์ซัรตียะห์) ทั้งยอมรับหรือปฏิเสธ (มูญิบะห์และซาลิบะห์) ผลลับจะออกมาเช่นไร ตรงนี้ต้องท่องจำสูตรเอานะครับ เช่น

เมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏ
กลางวันต้องมี
กลางวันจะมีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดวงอาทิตย์ปรากฏหรือไม่ปรากฏ


อย่างไรก็ตาม ผลลับของประพจน์จะถูกหรือไม่ ก็มีหลักพิสูจน์ด้วยวิธีการ อักซ์ (การกลับประพจน์) และตะนากุฏ (ปรปักษ์)

ที่กล่าวมานี้เป็นองค์ประกอบโดยรวมของกระบวนการวิชามันติก เท่าที่ยังพอจำได้ วิชานี้มีประโยชน์ถ้ารู้จักนำมาใช้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกระวังธาตุไฟจะแตกอะกีดะห์จะแหลกลาน อย่าเพิ่งท้อนะครับ ถ้าเข้าใจแล้วสนุก ผมเองก็เคยงงเต็กมาก่อนเหมือนกัน







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=280