รอมฎอนเดือนแห่งการถือศิลอด
วัน พุธ 24 ส.ค. 05 @ 08:03
หัวข้อ: บทความทั่วไป


โดย อาจารย์อับดุลลอฮ์ สุไลหมัด

เดือนรอมาฎอน ( شَهْرُ رَمَضَانَ ) เป็นเดือนลำดับที่ 9 ของเดือนทางจันทรคติตามปีศักราชอิสลาม อัลลอฮ์ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลาทรงกำหนดให้การเดือนรอมาฎอน เป็นฤดูหรือเทศกาลสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในองคาพยพทั้งห้าของอิสลาม ( รู่ก่นอิสลาม 5 ประการ ) การถือศิลอดในเดือนรอมาฎอนจึงมีฮุ่ก่มทางศาสนาเป็นวาญิบ อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آَمَنُوْا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِيْنَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُوْنَ


ความหมาย “ โอ้บรรดาชนผู้มั่นในศรัทธาเอ๋ย การถือศิลอดได้ถูกบัญญัติให้เป็นภารกิจ ( ฟัรฏู ) ของพวกเจ้าทุกคน เช่นเดียวกับที่เคยถูกบัญญัติให้เป็นภารกิจของชนในยุคอดีตก่อนสมัยพวกเจ้า ด้วยหมายให้พวกเจ้าเกิดความสำรวม ( ตักวา ) ” บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183

อัลลอฮ์ยังทรงมีรับสั่งอีกว่า



شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيْ أُنْزِلَ فِيْهِ الْقُرْآَنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَان ، فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ


ความหมาย “ เดือนรอมาฎอน เป็นเดือนที่ประทานอัลกุรอานลงมาเพื่อเป็นสิ่งชี้นำแด่มวลมนุษย์ชาติ และเพื่อเป็นหลักฐานแห่งทางนำ และการจำแนกแยกแยะระหว่างดีชั่ว (คือระหว่างความจริงกับความเท็จ ) ดังนั้นเมื่อผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าสู่เดือนนั้นแล้วเขาจงถือศิลอดเดือนนั้นเถิด ” จากบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 185 ท่านรอซูลุลลอฮ์กล่าวว่า

بُنِيَ اْلإِسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ : ......... وَصَوْمِ رَمَضَانَ .... إلخ


ความหมาย “ ศาสนาอิสลามตั้งมั่นอยู่บนหลักพื้นฐาน 5 ประการ ( องคาพยพแห่งอิสลามทั้งห้า ) คือ . . . . . และ (4) การถือศิลอดในเดือนรอมาฎอน . . . . ” จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม

นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านประวัตินิศาสตร์อิลามส่วนมากระบุตรงกันว่า การถือศลิอดเดือนรอมาฎอนนั้นถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎู (กิจบังคับ) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เดือนชะอฺบานตรงกับปีฮิจเราะฮ์สักราชที่ 2 นักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า ในอดีตก่อนกำหนดศิลอดฟัรฎูในเดือนรอมาฎอนนั้น ท่านรอซูลใช้ให้เหล่าสาวกถือศิลอดในวันอาชูรออฺเพียงวันเดียว ( แบบฟัรฎู ) ต่อจากนั้นได้ยกเลิกการถือศิลอดวันอาชูรออฺ (โดยเหลือเพียงแค่เป็นซุนนะฮ์) และให้ถือศิลอดเดือนรอมาฎอนแทน เป็นวาระๆกล่าวคือ แรกที่เดียวที่กำหนดให้ถือศิลอดเดือนรอมาฎอนนั้น ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่หนักเอาการ ท่านรอซูลุลลออ์จึงอนุโลมให้ชั่วระยะหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมและไม่ประสงค์ถือศิลอดให้ไม่ต้องถือศิลอดได้แต่ต้องชำระอาหารเป็นการทดแทน ( คือ เปิดโอกาสให้เลือกเองว่าจะถือศิลอดหรือไม่ถือ ) อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า

وَعَلَى الَّذِيْنَ يُطِيْقُوْنَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِيْنٍ


ความหมาย “ และให้เป็นหน้าที่แก่บรรดาผู้ที่ถือศิลอดด้วยความลำบาก (โดยเลือกที่จะงดการถือศิลอดตามปกติ ) ต้องชดเชยด้วยการจ่ายอาหารหนึ่งมื้อแก่ผู้ยากจนหนึ่งคน ” บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 184

ซึ่งครั้งนี้อัลกุรอานได้เน้นและส่งเสริมให้เลือกการถือศิลอดและระบุว่าการถือศิลอดมีความดีมากว่า อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า

فَمَنْ تَطَوَّعَ خَيْرًا فَهُوَ خَيْرٌ لَهُ وَ أَنْ تَصُوْمُوْا خَيْرٌ لَكُم


ความหมาย “ หากแต่ผู้ใดอาสาสมัครใจทำสิ่งที่ดีกว่า แน่นอนมันย่อมเป็นกุศล (คุณากร)แก่ตัวเขาเอง และการที่พวกเจ้าเลือกถือศลิอดนั้นย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้าเอง ” บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 184

และต่อมาภายหลังเมื่อประชาชนมีความพร้อมและสามารถถือศิลอดได้เป็นปกติแล้ว จึงกำหนดให้ถือศิลอดเพียงประการเดียว และไม่อนุโลมให้เลือกปฏิบัติเช่นแต่เดิม อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งอีกครั้งว่า

فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ


ความหมาย “ ดังนั้นเมื่อผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าสู่เดือนนั้นแล้ว ( คือเข้าเดือนรอมาฎอน ) เขาจงถือศิลอดเดือนนั้นเถิด ” จากบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 185


หลักเกณฑ์การกำหนดเริ่มเข้าเดือนรอมาฎอน

มาตรฐานการกำหนดเริ่มต้นเดือนรอมาฏอน ( และเดือนอื่นๆด้วย ) ในระบบอิสลามนั้นให้พิจารณาจากผลการเห็นเดือนฮิลาล ( เดือนเสี้ยวข้างขึ้น ) ในค่ำของวันที่ 30 เดือนชะอ์บาน หากไม่ปรากฏว่ามีการเห็นเดือนฮิลาลด้วยสาเหตุทางภูมิอากาศ เช่น ฟ้าปิดเป็นต้นหรืออื่นๆ ให้ใช้เกณฑ์การนับเดือนชะอ์บานต่อให้ครบ 30 วัน จากนั้นให้นับวันต่อมาเป็นวันที่หนึ่งของเดือนรอมาฎอนเลย นี่คือเกณฑ์มาตรฐานที่นักวิชาการอิสลามทุกยุคสมัยตั้งแต่ยุคท่านรอซูลุลลอฮ์,ซอฮาบะฮ์,ตาบิอีนและสลัฟ ซอและห์ในยุคสมัยต่อๆมา

กรณีการเห็นเดือนฮิลาลนั้นให้ถือว่ามีผลต่อการกำหนดเริ่มต้นเดือนรอมาฎอน เมื่อผู้เห็นนั้นเป็นไว้เนื้อเชื่อใจได้ แม้เพียงคนเดียวก็ตาม ซึ่งต่างกับการกำหนดสิ้นเดือนรอมาฎอนและเริ่มเดือนเชาวาล นักวิชาการเห็นชอบเหมือนกันว่าไม่สามารถรับฟังการเห็นเดือนจากคนเพียงคนเดียวได้ในกรณีสิ้นเดืนรอมาฎอน นอกจากต้องได้รับการรับรองจากชายที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้อีก 2 คน ร่วมยืนยันการเห็นเดือนฮิลาลสำหรับเดือนเชาวาล ท่านรอซูลุลลอฮ์กล่าวว่า

إِذَا رَأَيْتُمُ الْهِلاَلَ فَصُوْمُوْا


ความหมาย “ เมื่อพวกท่านเห็นเดือนเสี้ยว พวกท่านจงถือศิลอด ” บันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม

صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ فَإِنْ غُبَّيَ عَلَيْكُمْ فَأَكْمِلُوْا عِدَّةَ شَعْبَانَ ثَلاَثِيْنَ يَوْمًا


ความหมาย “ พวกท่านจงถือศิลอด (เข้าเดือนบวช) เมื่อเห็นเดือน (ฮิลาล) และพวกท่านจงหยุดถือศิลอด (ออกเดือนบวช) เมื่อเห็นเดือน (ฮิลาล) ดังนั้นหากปรากฏว่ามีเมฆหมอกมาบดบังแก่พวกท่าน (ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเห็นได้) พวกท่านจงนับเดือนชะอฺบานให้เต็มครบ 30 วัน ” จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม ท่านอับดุลลอฮิบนุอุมันรายงานว่า

تَرَاءَى النَّاسُ الْهِلاَلَ فَأَخْبَرْتُ رَسُوْلَ اللهِ r أَنِّيْ رَأَيْتُهُ فَصَامَ هُوَ وَأَمَرَ النَّاسَ بِصِيَامِهِ


ความหมาย “ ประชาชนต่างพากันเห็นเดือนเสี้ยว ข้าพเจ้าได้รายงานต่อท่านรอซูลุลลอฮ์ด้วยตัวเองว่าตัวข้าพเจ้าเองก็เห็นเดือนเสี้ยวด้วยเช่นกัน ดังนั้นท่านรอซูลจึงได้ถือศิลอด และมีคำสั่งให้ประชาชนทั่วไปถือศิลอด ” จากบันทึกของอาบีดาวู้ด และอัลฮาเก็ม

นักวิชาได้กำหนดคุณลักษณะของผู้ยืนยันการเห็นดวงจันทร์หรือเดือนเสี้ยว เพื่อให้มีผลต่อการกำหนดเข้าและออกเดือนไว้ว่า ผู้เห็นจะต้องเป็นมุสลิม , บรรลุศาสนภาวะแล้ว , มีสติสัมปะชัญญสมบูรณ์เยี่ยงปกติชนทั่วไป,และเป็นผู้ที่มีคำพูดคำจาที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ และต้องมีสายตาปกติดีไม่มีปัญหา. ดังนั้นข่าวการเห็นดวงจันทร์จึงไม่สามารถรับฟังได้จากบุคคลต่อไปนี้ (1) เด็กเล็กยังไม่บรรลุศาสนภาวะ แม้จะรู้เดียงสาบ้างแล้วก็ตาม (2) คนบ้า,คนวิกลจริต,คนขาดสติ,คนเมาและผู้ที่มีลักษณะใกล้เคียง (3) คนกาเฟร หรือคนต่างศาสนา (4) คนชั่วที่ชอบโกหกพกลมปลิ้นปล้อนพูดจาไม่อยู่ในร่องในรอยกลับกลอกไปมา และ (5) คนตาบอดหรือมีสายตาไม่ปกติฝ้าฟางไม่สามารถมอง เห็นได้เช่นปกติชนทั่วไป

เมื่อมีการเห็นดวงจันทร์ผู้เห็นด้วยตัวเองต้องถือศิลอดทันที ส่วนผู้ที่รับทราบการยืนยันการเห็นดวงจันทร์ ผู้รับทราบการเห็นต้องถือศิลอดตามการเห็นนั้นๆทันทีด้วยเช่นกัน โดยไม่ต้องยึดถือเรื่องเขตแดน , ภูมิประเทศ (มัฏละอฺ) หรือการคำนวณตามหลักดาราศาสตร์หรืออื่นใดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะ ท่านรอซูลลุลลอฮ์กำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้แล้ว คือ (1) ด้วยการเห็นดวงจันทร์ และ (2) ด้วยการนับเดือนเก่าให้ครบสำหรับกรณีไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์เท่านั้นไม่อนุญาตให้ยึดถือเกณฑ์อื่นๆ เช่นเกณฑ์การคำนวณ ทางดาราศาสตร์เป็นมาตรฐานโดยเด็ดขาด.







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=239