หลักการอธิบายอัลกุรอาน ตอนที่ 4
วัน พฤหัสบดี 14 ก.ค. 05 @ 18:11
หัวข้อ: ตัฟซีรอัลกุรอาน


โดยอบูบาซิ้ล

4 – การอธิบายอัลกุรอานด้วยปัญญา

ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

من قال فى القرآن برأيه أو بما لا يعلم فليتبوأ مقعده من النار


“ผู้ใดกล่าวเกี่ยวกับอัลกุรอานด้วยปัญญาของเขาเอง หรือพูดในสิ่งที่เขาไม่มีความรู้ก็จงเตรียมที่นั่งสำหรับเขาในนรก” ติรมีซีย์และนะซาอีย์




เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราได้เห็นจุดยืนของบรรดาตาบีอีนว่า ถึงแม้พวกเขาจะได้เรียนรู้การอธิบายอัลกุรอานจากศอฮาบะห์ แต่พวกเขาก็คอยระวังในการที่จะไม่นำเอาความคิดของเขาเองไปสอดแทรกไว้ด้วย อย่างเช่น ท่านสอี๊ด อิบนิมุซัยยับ ซึ่งเมื่อท่านถูกถามเกี่ยวกับการอธิบายอายะห์อัลกุรอาน ท่านก็จะตอบว่า “ฉันจะไม่กล่าวในเรื่องของอัลกุรอานด้วยปัญญาของฉันเอง”

รายงานจากยะซีด อิบนุอบียะซีดว่า “พวกเราได้ถามท่านสอี๊ด อิบนุมัยยับ เกี่ยวกับเรื่องฮะลาลหรือฮะรอม ซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ดี แต่เมื่อพวกเราถามถึงการอธิบายอัลกุรอาน ท่านกลับนิ่งประหนึ่งว่าไม่ได้ยินคำถาม”

แต่ หลังจากที่บรรดามุสลิมมีความแตกต่างในเรื่องความเชื่อหรือในเรื่องการปฏิบัติ จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มเป็นคณะมากมาย เช่นกลุ่มบิดอะห์,กลุ่มซูฟี (ตะรีกัต) กลุ่มมัวอ์ตะซีละห์, กลุ่มค่อวาริจญ์, กลุ่มชีอะห์ และฯลฯ โดยแต่ละกลุ่มต่างก็พยายามอ้างอัลกุรอานสนับสนุนความเชื่อและการปฏิบัติของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงที่มาของอายะห์ บางครั้งก็หยิบเอาอายะห์อัลกุรอานไปอ้างตามตัวอักษร หรือบางครั้งก็ใช้การตีความเข้าข้างตนเอง ความเลยเถิดเช่นนี้มีปรากฏอยู่มากมาย จนกระทั่งบางกลุ่มจัดทำหนังสือตัฟซีรเฉพาะแนวของตัวเอง เช่นหนังสือตัฟซีรของกลุ่มชีอะห์อิหม่ามสิบสองที่มีแนวการอธิบายแบบพิศดารที่มุ่งเน้นการด่าประณามท่านอบูบักร์ ,ท่านอุมัร,ท่านหญิงอาอิชะห์ และศอฮาบะห์ท่านอื่นๆ หรือตัวอย่างเช่นหนังสือตัฟซีร อัลกัชชาฟ ของ ซะมัคซะรีย์ ซึ่งเป็นตัฟซีรในแนวกลุ่มมัวอ์ตะซีละห์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักวิชาการอีกหลายแขนงที่พยามยามอธิบายอัลกุรอานตามภูมิรู้ของตนเอง เช่น นักภาษาศาสตร์,นักปรัชญา,นักดาราศาสตร์,และฯลฯ

ตัวอย่างการตัฟซีรและการตีความนอกรีต

ตัวอย่างที่ 1

اِنَّ الصَلاَةَ تَنْهَى عَنِ الفَحْشَاءِ وَالمُنْكَر


“แท้จริงการละหมาดนั้นจะยับยั้งความชั่วและลามกอนาจาร” ซูเราะห์อัลอังกะบูต อายะห์ที่ 45


มีผู้รู้บางท่านนำอายะห์ข้างต้นนี้ไปให้ความหมายในมุมกลับคือ ถ้าไม่เลิกชั่วก็ไม่ได้ละหมาดหรือละหมาดก็ไม่เซาะห์ (ใช้ไม่ได้ ) จึงทำให้ได้ฮุก่มใหม่จากหลักฐานนอกตัวบท นี่คือตัวอย่างความผิดพลาด

ตังอย่างที่ 2

وَذَكِّرْ فَاِنَّ الذِكْرَى تَنْفَعُ المُؤْمِنِيْن


“จงเตือนเถิด แท้จริงการเตือนเป็นประโยชน์ต่อมุอ์มิน” ซูเราะห์อัซซารียาต อายะห์ที่ 55


บางท่านได้นำเอาอายะห์นี้เป็นหลักฐานในเรื่องการอ่านตัลกีนให้กับคนที่ตายแล้ว โดยอ้างว่า เมื่อตอนมีชีวิตเขาเป็นมุอ์มิน เมื่อเขาตายเขาก็เป็นมุอ์มินด้วย ฉะนั้นจึงต้องเตือนทั้งตอนเป็นและตอนที่ตายแล้ว นี่เป็นการตีความที่ไม่มีร่องรอยจากท่านนบีหรือเหล่าศอฮาบะห์

ตัวอย่างที่ 3

وَفِى أَنْفُسِكُمْ أَفَلاَ تُبْصِرُوْن


“และในตัวของพวกเจ้านั้น พวกเจ้าไม่ได้พิจารณากันเลยหรือ” ซูเราะห์อัซซารียาต อายะห์ที่ 21


อายะห์นี้ได้เรียกร้องให้พิจารณาสิ่งถูกสร้างเพื่อให้รู้จักผู้สร้าง โดยเฉพาะตัวของพวกเจ้าเองเพื่อให้เกิดการศรัทธา แต่กลุ่มซูฟีเลยเถิดกลับให้ความหมายอายะห์นี้ว่า “และในตัวของพวกเจ้านั้น พวกเจ้าไม่ได้เห็นอัลลอฮ์หรือ”

ตัวอย่างที่ 4

تَبَّتْ َيدَا أَبِى لَهَبٍ وَتَب


“มือทั้งสองของอบูละฮับจงพินาศและมันได้พินาศแล้ว” ซูเราะห์อัลมะซัด อายะห์ที่ 1


อายะห์นี้พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประณามและแช่งอบูละฮับ แต่ชีอะห์ (อิหม่ามสิบสอง) กลับนำคำว่าทั้งสองในที่นี้ไปตีความแล้วให้ความหมายว่า ทั้งสองที่พินาศคือ อบูบักร์และอุมัร

ตัวอย่างที่ 5

اِنَّ اللهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تَذْبَحُوا بَقَرَة


“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ใช้พวกเจ้าให้เชือดวัวตัวเมีย” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ 67


อายะห์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ท่านนบีมูซาได้กล่าวแก่พวกพ้องตามคำบัญชาของอัลลอฮ์ว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้เชือดวัวเพื่อพิสูจน์คดีฆาตกรรมในขณะนั้น แต่กล่มชีอะห์ (อิหม่ามสิบสอง) กลับตีความคำว่า วัวตัวเมีย ว่าหมายถึงท่านหญิงอาอิชะห์

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างในการให้ความหมาย,การอธิบาย และการตีความนอกรีต ที่เป็นอันตรายบรรดามุสลิมเป็นอย่างยิ่ง หาใช่ว่า บรรดาหนังสือตัฟซีรที่มีอยู่ดาดดื่นตามแพงหนังสือจะถูกต้องและใช้อ้างอิงได้ทั้งหมด แต่หากต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่เช่นนั้นแล้วการศึกษาอัลกุรอานของเราจะยิ่งทำให้เราไกลจากอัลกุรอานยิ่งขึ้นไปทุกที

ส่วนหนังสือตัฟซีรที่อยู่ในระดับเชื่อถือได้ ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงนั้นเห็นจะได้แก่ หนังสือตัฟซีรของท่านอิบนิกะษีร หรือ อัลญามีอุ้ลฮะห์กาม ของท่านกุรตุบีย์ หรือ ญามิอุ้ลบะยาน ของท่านอิบนุญะรีร อัตตอบารีย์ เป็นต้น







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=212