หลักการอธิบายอัลกุรอาน ตอนที่ 2
วัน ศุกร์ 13 พ.ค. 05 @ 05:14
หัวข้อ: ตัฟซีรอัลกุรอาน


โดย อบูบาซิ้ล

2 – ฮะดีษอธิบายอัลกุรอาน

ตราบใดที่มุสลิมยังคงกล่าวปฏิญาณตนในประโยคที่สองด้วยคำว่า อัชฮาดุอันน่ามุฮัมม่าดัรรอซูลุ้ลลอฮ์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านรอซูลมายึดถือปฏิบัติควบคู่ไปกับอัลกุรอานด้วย เพราะสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากท่านรอซูลไม่ว่าจากคำพูด,การกระทำหรือการยอมรับของท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นวะฮีย์ที่มาจากพระองค์อัลลอฮ์ทั้งสิ้น ท่านนบีได้ทรงกล่าวว่า


أَلاَ اِنِّى أُوْتِيْتُ القُرْآنَ وَمِثْلَهُ مَعَه


“แต่ทว่าอัลกุรอานและสิ่งที่คล้ายกันได้ถูกนำมาให้ฉันด้วย”
สุนันอบีดาวู๊ด ฮะดีษเลขที่ 3988


สิ่งที่คล้ายกันในที่นี้ บรรดานักวิชาการต่างเข้าใจตรงกันว่า คือซุนนะห์ของท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ไม่ได้ทรงประทานอัลกุรอานให้แก่ท่านนบีอย่างเดียว แต่พระองค์ได้ทรงประทานความเข้าใจแก่ท่านรอซูลด้วย ท่านอิหม่ามชาฟีอี รอฮิมาฮุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ท่านรอซูลได้ตัดสินนั้น มันคือความเข้าใจที่ท่านได้จากอัลกุรอาน” พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

اِنَّا أَنْزَلْنَا اِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ لِتَحْكُمَ بَيْنَ النَاسِ بِمَا أَرَاكَ اللهُ وَلاَ تَكُنْ لِلخَائِنِيْنَ خَصِيْمًا


“แท้จริงเราได้ประทานคัมภร์แก่เจ้าด้วยสัจธรรม เพื่อให้เจ้าได้ตัดสินผู้คนด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ให้เจ้าได้รู้เห็น และเจ้าอย่าได้เป็นผู้โต้เถียงให้แก่ผู้ฉ้อฉล”
ซูเราะห์อันนิสาอ์ อายะห์ที่ 105


ด้วยเหตุที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงให้ท่านรอซูลได้รู้ได้เห็นและได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นการตัดสินความใดๆก็ตามจึงเป็นไปตามเป้าประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์

وَأنْزَلْنَا اِليْكَ الذِكْرَ لِتُبَيِّنَ لِلنَاسِ


“และเราได้ประทานข้อเตือน (อัลกุรอาน) แก่เจ้า (มูฮัหมัด) เพื่อให้เจ้าได้นำมันไปแจกแจงแก่ผู้คน”
ซูเราะห์อัลนะฮล์ อายะห์ที่ 44


ความเข้าใจของท่านรอซูลที่ได้รับจากอัลกุรอาน ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดด้วยคำพูด การกระทำ หรือการยอมรับของท่าน จึงเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศึกษา เพราะเราไม่สามารถเข้าใจอัลกุรอานโดยละทิ้งฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านรอซูล

เป็นที่ทราบกันดีว่า อัลกุรอานที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานมานี้เป็นหลักการที่กล่าวไว้ครบถ้วน ส่วนในรายละเอียดนั้นต้องได้รับการอธิบายจากท่านนบีอีกทอดหนึ่ง เช่นพระองค์อัลลอฮ์ได้สั่งให้ผู้ศรัทธาละหมาด แต่ก็ไม่ได้บอกวิธีการและอริยาบทในการละหมาด แต่เราก็ได้รับคำอธิบายจากท่านนบีด้วย คำพูดและการกระทำของท่าน

และหากเราไม่ใส่ใจต่อการอธิบายของท่านนบี เราก็คงจะนำเอาอัลกุรอานไปตีความกันเอง ตัวอย่างเช่นอายะห์ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้อาบน้ำละหมาดคือ

يَا اَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا اِذَا قُمْتُمْ اِلَى الصَلاَةِ فَاغْسِلُوا وُجُوْهَكُمْ وَأيْدِيَكُمْ اِلىَ المَرَافِق وَامْسَحُوا بِرُؤُسِكُمْ وَأرْجُلَكُم اِلىَ الْكَعْبَيْن


“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าจะยืนละหมาดก็จงล้างหน้าของพวกเจ้า และล้างมือของพวกเจ้าจนถึงข้อศอก และเช็ดศรีษะของพวกเจ้า และล้างเท้าของพวกเจ้าจนถึงตาตุ่ม”
ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 6


ในอัลกุรอานอายะห์นี้สั่งให้อาบน้ำละหมาดก่อนที่จะไปละหมาด แต่ก็บอกไว้โดยหลักกว้างๆ เราจะเห็นได้ว่า อายะห์นี้ไม่ได้บอกถึงเรื่องการบ้วนปาก สูดน้ำเข้าออกจมูก และไม่ได้บอกถึงการเช็ดใบหู หากเราไม่ไปดูการกระทำของท่านรอซูล สิ่งเหล่านี้ก็คงจะขาดไปในการอาบน้ำละหมาดของเรา

นอกจากนั้นเราก็คงจะหยิบเอาถ้อยความในอายะห์นี้ไปตีความ เช่นเรื่องการเช็ดศรีษะซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในบ้านเรา ทั้งที่ท่านรอซูลได้ให้รูปแบบไว้แล้วว่า ในขณะที่ศรีษะโล่งๆ เช็ดอย่างไร หรือในขณะที่สวมหมวกหรือโพกสาระบั่นเช็ดอย่างไร แต่เราก็ไม่ใส่ใจในการอธิบายของท่าน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเหล่าชีอะห์ที่พวกเขาอาบน้ำละหมาดด้วยการเช็ดเท้า ก็จากการตีความจากอายะห์นี้เช่นกัน โดยไม่ใส่ใจการอธิบายจากท่านนบีว่า ขณะที่อยู่ในสภาพเท้าเปล่านั้นท่านล้างหรือเช็ด และในขณะที่ท่านสวมโคฟอยู่ท่านทำอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การอธบายอัลกุรอานด้วยฮะดีษนี้ มีสิ่งที่ผู้อธิบายต้องคำนึงถึงก็คือ ควรรู้ที่มาของฮะดีษด้วย ไม่ว่าจะเป็นสายรายงาน,ตัวผู้รายงาน หรือเนื้อหาของคำรายงาน หรือพูดง่ายๆว่า ต้องรู้จักสถานะของฮะดีษด้วย เพราะกรอบของการใช้ฮะดีษอธิบายอัลกุรอานนั้นจะต้องเป็นฮะดีษที่ศอเฮียะห์ หรืออย่างน้อยก็อยู่ในระดับฮะซัน ส่วนฮะดีษฏออีฟ (อ่อน) หรือฮะดีษเมาฏัวอ์ (เก้) นั้นไม่สามารถนำมาเป็นหลักในการอธิบายอัลกุรอานได้ แต่เราก็พบว่าในตัฟซีรหลายเล่มที่ยังคงใช้ฮะดีษฏออีฟ หรือเมาฏัวอ์ ในการอธิบายอัลกุรอานอยู่ จึงเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนควรรอบคอบ และควรดูการอธิบายจากตัฟซีรหลายๆเล่ม และหากสามารถตรวจสอบสถานะของฮะดีษได้ก็ควรตรวจสอบเสียก่อน

อีกประการหนึ่งก็คือ การรู้สาเหตุของการเกิดฮะดีษ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบเป้าหมายของฮะดีษว่า เกี่ยวกับเรื่องอะไร ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการนำฮะดีษคนละเรื่องมาอธิบายอัลกุรอาน จะเกิดการผิดพลาดได้







บทความนี้มาจาก Moradokislam.org
http://www.moradokislam.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=196